สังคมกำลังพูดถึงประเด็นการวางยาสลบในสัตว์ อย่างกว้างขวาง โดยมีการตั้งคำถามเรื่องความอันตรายจากการวางยาสลบ ว่ากระบวนการที่ปลอดภัยเป็นเช่นไร และสามารถควบคุมความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน จนถึงเรื่องความเหมาะสมในการใช้ยาสลบกับสัตว์ เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากการรักษา โดยสัตวแพทย์
The MATTER ได้พูดคุยกับหมอเตย–สัตวแพทย์หญิง จุฑามาศ สุพะนาม เพื่อสอบถามประเด็นข้างต้น
“การที่ใช้ยาสลบใดๆ บนสัตว์ เราก็ต้องนึกถึงว่า ต้องทำหัตถการอะไรกับสัตว์ เราต้องกู้ชีพอย่างด่วนอย่างเร็วไหม หรือว่าสัตว์ตัวนั้น มีความบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยมากแค่ไหน ร่างกายของเขา พร้อมที่จะรับยาสลบด้วยวิธีไหน” หมอเตยระบุ
พร้อมกับอธิบายว่ายาสลบที่นิยมใช้ เพื่อผ่าตัดหรือทำหัตถการใดๆ ที่จำเป็นกับสัตว์ อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มที่ใช้วิธีการฉีด กับการดมสลบ ซึ่งสัตวแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสม ของยาสลบแต่ละประเภท โดยพิจารณาจาก ประเภทของงานหัตถการ ชนิดของสัตว์ และระยะเวลาที่ต้องทำให้สัตว์สลบ
“ถ้าสมมติว่าเขามีสภาวะของค่าตับสูง ค่าไตสูง แน่นอนว่าการวางยาสลบ ด้วยวิธีการฉีดยา อาจจะมีความเสี่ยงมาก” หมอเตยกล่าวถึงอันตรายของยาสลบ ซึ่งหากต้องการวางยาสลบใดๆ สัตวแพทย์จะประเมินความเสี่ยงจาก ผลการตรวจร่างกาย และค่าตรวจเลือด และหากสัตว์ตัวนั้น มีสภาพร่างกายอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย จึงจะทำได้
หมอเตยกล่าวว่า สำหรับการตัดสินใจใดๆ สัตวแพทย์ต้องพึ่งพาหลักวิชาการเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสัตว์มากที่สุด พร้อมกับป้องกันความผิดพลาดและความเสียหายใดๆ ต่อชีวิตของสัตว์ตัวนั้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ และมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเร่งด่วน สัตวแพทย์จะต้องปรึกษาเจ้าของสัตว์ พร้อมแจ้งอัตราการรอด หรือความเสี่ยงอื่นๆ
“เราต้องไม่ละทิ้งคนไข้เลย” หมอเตยย้ำว่า อีกหนึ่งประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ ตลอดเวลาที่สัตว์สลบ ด้วยการวางยาสลบวิธีใดก็ตาม สัตวแพทย์มีหน้าที่คอยดูแล และเฝ้าสังเกต จนกว่าหัตถการนั้นจะสิ้นสุดลง และสัตว์ตัวนั้นฟื้นจากการสลบ เพราะนั่นจะเป็น “ สิ่งที่จะทำให้ชีวิตสัตว์ปลอดภัยที่สุด” หมอเตยระบุ
สำหรับการใช้ยาสลบหรือยาใดๆ กับสัตว์ เพื่อจุดประสงค์ด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการรักษา หมอเตยระบุว่า “ถ้าไม่มีคุณหมอ แล้วลูกค้าใช้ยาเอง เจ้าของสัตว์ใช้ยาเอง หรือกองถ่ายทำใช้ยาเอง ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ควรทำ เพราะมันเกี่ยวกับกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ การทารุณกรรมสัตว์ด้วย”
หมอเตยเล่าว่า ตามกฎหมายแล้ว ‘สัตวแพทย์เท่านั้น’ ที่มีสิทธิใช้ยาสลบ ทั้งนี้สัตวบาล หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ก็ไม่สามารถใช้ยาสลบเองได้ ตามที่กฎหมายระบุ
แต่ในกรณีที่อาจทำให้สัตว์ตื่นกลัว เช่น ยิงปืน วางระเบิด จนสัตว์ตกใจและตื่นกลัว จนอาจเกิดอันตรายหรือเสียชีวิต สัตวแพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาที่เหมาะสม โดยหมอเตยกล่าวว่า “ต้องให้คุณหมอเฝ้าดูแล ตั้งแต่กระบวนการแรกเลย ตั้งแต่ตรวจร่างกายก่อนเข้าฉาก จนกระทั่งวางยาให้น้องสลบ จนกระทั่งถ่ายทำฉากนั้นเสร็จ จนกระทั่งให้ยาให้น้องตื่น จนกระทั่งตรวจร่างกายน้อง”
นอกจากนี้ หากในอนาคตมีการใช้ยาต่างๆ กับสัตว์ ไม่ว่าสำหรับกรณีใดก็ตาม หมอเตยบอกว่า “จะต้องมีผลตรวจเลือดมายืนยัน” ว่าร่างกายของสัตว์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งก่อนและหลังใช้ยา
สุดท้ายนี้ หมอเตยฝากว่า “อยากจะให้เห็นถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ให้เปรียบเทียบว่าชีวิตเขา ก็เหมือนชีวิตเรา ทำอะไรก็ให้นึกถึงความปลอดภัยชีวิตสัตว์เป็นหลัก” พร้อมปิดท้ายว่า ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัด “ทุกชีวิตมีคุณค่า มีความหมายเท่ากันหมด”