ไตรมาส 3 ปี 2567 นี้ ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.48 ล้านคน โดยเป็นผู้ว่างงานกว่า 414,000 คน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยรายงานเรื่อง ‘สถานการณ์แรงงานประเทศไทย’ จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 พบว่าการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนๆ แต่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่ามีจำนวนการจ้างงานลดลง
ทั้งนี้ ในการสำรวจได้ให้นิยามของผู้ว่างงาน คือ ผู้ที่ในสัปดาห์ที่สำรวจไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางานระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ หรือผู้ที่ไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ
ข้อมูลเผยว่า มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.48 ล้านคน โดยเป็นผู้มีงานทำ 40.04 ล้านคน และมีผู้ว่างงานกว่า 414,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% และมีผู้ที่รอฤดูกาลทำงาน 3 หมื่นคน ส่วนประชากรนอกจากนี้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน มี 18.76 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก คนชรา ป่วยหรือพิการ ผู้ที่ทำงานบ้าน หรือคนที่ยังเรียนหนังสือ
เมื่อเปรียบเทียบการมีงานทำในไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2567 กับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 พบว่าการจ้างงานลดลง 5 หมื่นคน (0.1%) โดยมาจากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ลดลงถึง 3.4% และภาคการผลิตลดลง 0.3% อย่างไรก็ดี ในภาคการบริการและการค้า มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.2%
และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ของปีเดียวกันนี้ อัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้นเป็น 67.6% จาก 66.8%
หากพิจารณาตามประสบการณ์การทำงาน พบว่า ผู้ว่างงานในไตรมาส 3 นี้ เป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.86 แสนคน เคยทำงานในภาคการบริการและการค้า 64% ภาคการผลิต 28% และภาคการเกษตร 8%
และอีก 2.28 แสนคน ไม่เคยทำงานมาก่อนเลย เป็นวัยเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี 76.8% และที่เหลือเป็นวัยผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป 23.2%
อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่เพ่ิมขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้ว โดยลูกจ้างภาคเอกชน ทำงานเฉลี่ย 47.4 ชั่วโมง/ต่อสัปดาห์ (เทียบได้กับการทำงานเกือบ 6 วัน หรือทำงาน 5 วัน วันละ 9 ชั่วโมง 30 นาที) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากทั้งช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ที่อยู่ที่เฉลี่ย 46.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ อีกด้วย
นอกจากอัตราผู้ว่างงานแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มที่ควรให้ความสนใจ คือ ผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน (แรงงานที่รับค่าจ้างรายชั่วโมง) เพราะแม้จะไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ซึ่งอาจส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน โดยในไตรมาส 3 นี้ มีผู้เสมือนว่างงานจำนวน 1.55 ล้านคน
อ้างอิงจาก