ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์เรือรบพม่ายิงเรือประมงไทย จนนำไปสู่คำถามว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ และเรื่องราวเป็นอย่างไร โดยเมื่อวานนี้ (1 ธันวาคม 2567) พลเรือเอก พาสุกรี วิลัยรักษ์ โฆษกกองทัพเรือ ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าว อาจสรุปได้ดังนี้
- วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 00.45 น. ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาค 3 จ.ระนอง ได้รับแจ้งจาก เรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 ว่าถูกเรือรบเมียนมาใช้อาวุธยิง บริเวณทิศตะวันตกของเกาะพยาม จ.ระนอง โดยขณะนั้นมีเรือประมงหลายลำ ที่กำลังทำการประมงในพื้นที่
- เรือลำดังกล่าวแจ้งว่า ตัวเรือได้รับความเสียหายและมีน้ำเข้าเรือปริมาณมาก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 คน อีกทั้งเรือรบเมียนมาได้เข้าจับกุมเรือ ส เจริญชัย 8 ซึ่งมีลูกเรือจำนวน 31 คน ไปยังเกาะย่านเชือก ประเทศเมียนมา
- พลเรือโท สุวัจ ดอนสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือ (ทร.) ภาคที่ 3 จึงสั่งการให้ เรือ ต.274 ช่วยเหลือเรือประมงที่ได้รับความเสียหาย พร้อมกับค้นหาและช่วยเหลือเรือประมงลำอื่นๆ
- จากการค้นหา พบว่าลูกเรือประมง ดวงทวีผล 333 เสียชีวิต 1 ราย โดยคาดว่าเกิดจากการสำลักน้ำ ในขณะกระโดดน้ำหนี นอกจากนี้ยังพบผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ได้แก่ ไต๋เรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ และลูกเรือชาวเมียนมาไม่ทราบชื่อ ถูกกระแสไฟฟ้าช๊อตตามร่างกาย
- จากนั้นนำตัวผู้บาดเจ็บทั้งสองราย ส่งท่าเทียบเรือน้ำลึก จ.ระนอง เพื่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดระนอง และมอบหมายให้ศูนย์ประสานงานชายแดนทางทะเลไทยเมียนมา (ศปชล.ทม.) ส่งกำลังพลร่วมสังเกตการณ์ พร้อมช่วยเหลือในการนำส่ง
- จนถึงตอนนี้ โฆษก ทร.สรุปผลการช่วยเหลือเรือประมง 2 ลำ ประกอบด้วย เรือดวงทวีผล 333 มีลูกเรือ 29 คน (เสียชีวิต 1 คน) และเรือมหาลาภธนวัฒน์ 4 มีลูกเรือ 33 คน (บาดเจ็บ 2 คน) ในขณะที่เรือ ส เจริญชัย 8 ถูกจับกุมไปที่เมียนมา
- สำหรับสาเหตุ พลเรือโท สุวัจ กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า หลังจากตรวจสอบด้วยระบบ Sea Vision จึงคาดว่าเรือทั้ง 3 ลำ อาจล้ำเข้าไปในฝั่งน่านน้ำเมียนมา ทำให้เรือรบเมียนมาออกมากวดขันและป้องปราม
- ศปชล.ทม.ได้ติดต่อผู้บังคับการสถานีเรือ 58 เกาะย่านเชือก ประเทศเมียนมา จึงทราบว่าเรือรบเมียนมาได้จับกุมเรือประมงไทยจำนวน 1 ลำจริง โดยอ้างว่ามีเรือประมงประมาณ 15 ลำ เข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำเมียนมา
- นอกจากนี้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือระบุว่า ทร.จะตรวจสอบว่า การใช้อาวุธของเรือรบเมียนมา เป็นการกระทำเกินขอบเขตหรือไม่ และหากพบว่าเมียนมาใช้อำนาจเกินขอบเขต จะมีการตอบโต้อย่างชัดเจน
- ลำดับต่อไป โฆษก ทร.แจ้งว่าจะประสานงานตามกลไกของคณะกรรมการ เพื่อเจรจานำเรือและลูกเรือประมงกลับสู่ประเทศไทย โดยจะมีการประชุมร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการชายแดนไทยส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (Township Border Committee หรือ TBC) จากทั้งสองประเทศ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ถูกจับกุม กลับประเทศไทย
- วันนี้ (2 ธันวาคม 2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รายงานความคืบหน้าว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้หารือกันแล้ว พร้อมกับยอมรับว่าเส้นแบ่งทางทะเล อาจไม่ชัดเจนในเรื่องการแบ่งร่องน้ำ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหา เพราะถือเป็นแหล่งทำมาหากินของทั้ง 2 ฝ่าย
- ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ทำหนังสือประท้วงไปแล้ว โดยจะเชิญเอกอัครราชทูตเมียนมา เพื่อเข้าพบและดำเนินการตามกระบวนการทางการทูตต่อไป
อ้างอิงจาก