ตั้งแต่การ์ฟิลด์ ไปจนถึงพุซอินบูทส์ ต่างมีคาแรกเตอร์ ‘แมวส้ม’ ที่ครองใจเราเสมอมา แต่เพราะอะไรกันที่ทำให้แมวพวกนี้มีขนสีส้ม? แล้วทำไมแมวส้มส่วนใหญ่ถึงต้องเป็นตัวผู้ด้วย? ซึ่งจริงๆ แมวส้มมีปริศนาเรื่องขนที่รอวันกระจ่างมาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หาคำตอบได้แล้ว!
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยเรื่องสีขนและเพศผู้ของแมวส้ม ขณะที่แมวสามสี หรือลายอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเพศเมีย โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะกลไกทางพันธุกรรมที่ซับซ้อนของโครโมโซม X
เกร็ก บาช นักวิจัยจาก Stanford และ ฮิโรยูกิ ซาซากิ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Kyushu ค้นพบการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อสีขนของแมว จากการตรวจสอบตัวอย่างผิวหนังจากตัวอ่อนของแมว โดยพบว่ายีนที่เรียกว่า Arhgap36 ซึ่งอยู่บนโครโมโซม X ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างขนสีส้ม
“มันเป็นปริศนาทางพันธุกรรม และยังเป็นปริศนาที่ยากจะเข้าใจ” บาชอธิบาย
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโปรตีนที่เรียกว่า Mc1r เป็นตัวกำหนดสีขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทว่ายีนนี้ไม่สามารถอธิบายรูปแบบสีของแมวส้มได้ นักวิจัยสังเกตเห็นว่า แมวส้มสามารถสร้าง RNA (กรดนิวคลีอิก ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สารชีวโมเลกุลหลักของสิ่งมีชีวิต) จากยีน Arhgap36 มากกว่าแมวที่ไม่ใช่สีส้มถึง 13 เท่า
โดยยีนที่กลายพันธุ์จะอยู่บนโครโมโซม X ของแมว ซึ่งสิ่งนี้อธิบายได้ว่าทำไมแมวส้มส่วนใหญ่ถึงเป็นตัวผู้ ในขณะที่แมวตัวเมียส่วนใหญ่จะมีขนสีส้มเป็นบางจุด หรือผสมกันหลายๆ สีนั่นเอง
เลสลี่ ลียอนส์ นักพันธุศาสตร์แมวจาก University of Missouri ตื่นเต้นกับการค้นพบนี้เป็นพิเศษ โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มียีนใดที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยเน้นย้ำถึงปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนภายในระบบพันธุกรรม ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ การวิจัยครั้งนี้เปิดเผยมากกว่าแค่ข้อเท็จจริงสนุกๆ เกี่ยวกับสีของแมว
“ทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับพันธุกรรม คุณสามารถเรียนรู้ได้จากแมวของคุณ” ลียอนส์แนะนำ
การศึกษาดังกล่าวเผยแพร่อยู่บน bioRxiv ซึ่งไม่เพียงแต่ไขปริศนาทางพันธุกรรมที่สืบต่อกันมายาวนานเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพียงเล็กน้อยสามารถสร้างความหลากหลายที่สวยงามได้อย่างไรบ้าง
อ้างอิงจาก