ในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2024 นี้ ถือเป็นวันครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มประเทศไทย บริเวณชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด – ภูเก็ต, พังงา, ระนอง, กระบี่, ตรัง และสตูล โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,400 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 8,000 ราย และยังมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ แต่ภัยพิบัตินี้ได้คร่าชีวิตผู้คนใน อินโดนีเซีย, ศรีลังกา, อินเดีย และไทย รวมกว่า 230,000 ชีวิต
ย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุ 26 ธันวาคม ปี 2004 เวลา 07.58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยจากเหตุแผ่นดินไหวนี้ ทำให้เกิดเป็นคลื่นน้ำขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า ‘สึนามิ – Tsunami’ เข้าถล่มประเทศไทย
พื้นที่ชายหาดหลายแห่งถูกคลื่นยักษ์ที่สูงกว่า 10 เมตร เข้ากวาดทุกสิ่งทุกอย่างภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที
วิดิโอที่ถูกเผยแพร่ในเวลานั้น แสดงให้เห็นคลื่นขนาดใหญ่ที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ไกลๆ และเริ่มเข้าใกล้ชายฝั่งด้วยความเร็วและแรง ซึ่งในเวลานั้นยังคงมีกลุ่มนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ยืนมองคลื่น และบางส่วนที่เก็บของและเริ่มวิ่งหนี กระทั่งคลื่นดังกล่าวได้ซัดเรือทั้งลำหายไปอย่างรวดเร็ว จากนั้นจำนวนน้ำมหาศาลก็ไหลเข้าท่วมทุกพื้นที่อย่างรวดเร็ว
เรเชล เฮียสัน และสามีของเธอ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนที่เกาะพีพี ประเทศไทย เป็นสองคนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิครั้งนั้น โดยเธอให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่เธอพบว่าตัวเองลอยอยู่ในน้ำ ตอนเกิดภัยพิบัติขึ้น
“สิ่งสุดท้ายที่ฉันเห็นก่อนจะจมลงไปคือบังกะโลสองหลังที่พุ่งเข้ามาหาฉัน ฉันจมลงไปใต้น้ำ และมีอะไรบางอย่างที่หนักมากๆ อยู่บนหัวของฉัน ฉันพยายามกลั้นหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และคิดว่าฉันอาจจะต้องตาย” เธอกล่าว
สึนามิ ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของประเทศไทย เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่มีระบบเตือนภัย หรือการแจ้งเตือนใดๆ ทำให้เกิดเป็นความสูญเสียที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ได้นำไปสู่การหาระบบรับมือภัยพิบัติทางทะเลโดยรัฐบาลไทย
ข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ประเทศไทยได้ติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิตัวแรกในไทยในปี 2006 โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสหรัฐฯ จากนั้นในปี 2017 ประเทศไทยได้ติดตั้งทุ่นตัวที่ 2 ในทะเลอันดามันบริเวณน่านน้ำเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนี้ยังมีระบบเตือนภัยสึนามิอื่นๆ อีกที่ถูกติดตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง รวมไปถึงหอคอยแจ้งเตือนสึนามิด้วยเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงการติดตั้งป้ายจากชายฝั่งเพื่อบอกทางหนีขึ้นที่ปลอดภัย เมื่อเกิดภัยพิบัติ
แม้ว่าในวันนี้จะล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ความสูญเสียกลายเป็นเหมือนบทเรียน และข้อเตือนใจของเราทุกคนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีการรับมือต่ออนาคต
อ้างอิงจาก