ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราพบเจออยู่ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ต้องรอให้รัฐเข้ามาแก้ไข แต่บางเรื่องรอแล้วรอเล่า ปัญหาก็ยังวิ่งวนอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน ทำให้เริ่มมีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม
ชวนมาดู 10 ธุรกิจที่สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศไทย พร้อมไอเดียการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในรูปแบบธุรกิจ เพราะแม้ว่าภายหลังหลายๆ ธุรกิจจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่เกิดธุรกิจเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นมา ก็เพื่อแก้ไขปัญหาที่รัฐอาจจะมองข้ามไป
การศึกษา
- InsKru
ปัญหา: นักเรียนหลายคนรู้สึกว่าการเรียนในห้องเต็มไปด้วยเนื้อหาวิชาการชวนง่วง แถมยังฟังดูไกลตัว จนไม่ค่อยอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ขณะที่คุณครูไม่มีเวลาคิดรูปแบบการสอนใหม่ๆ และไม่มีพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยนไอเดียกัน
ทางออก: สร้างพื้นที่ให้คุณครูได้ ‘เติมไฟ’ และ ‘แลกเปลี่ยน’ ไอเดียการสอนสนุกๆ ผ่านคอมมูนิตี้ InsKru (มาจากคำว่า Inspire + Kru) เพื่อให้คุณครูสามารถออกแบบวิธีการสอนได้หลากหลาย ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ทั้งครูและนักเรียนสนุกกับการเรียนการสอนในห้องเรียน และทำให้เนื้อหาวิชาการกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น
- StartDee
ปัญหา: ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่เด็กหลายคนหลุดจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีเงินไปโรงเรียน ไม่ว่าจะค่าเสื้อผ้า หนังสือ อุปกรณ์การเรียน หรือบางคนเรียนในห้องไม่เข้าใจ ก็ไม่มีเงินไปเรียนพิเศษ จนกลายเป็นว่าการศึกษาที่มีคุณภาพเริ่มเข้าถึงยากและต้องใช้เงินเยอะ
ทางออก: สร้างแอปฯ ในโทรศัพท์มือถือที่เด็กๆ สามารถเข้าไปเรียน ทำแบบฝึกหัดและข้อสอบได้ ‘ทุกวิชา ทุกบทเรียน’ ในราคาหลักร้อยต่อเดือน ซึ่งช่วง COVID-19 ก็เคยมีโครงการ ‘StartDee Free School’ ที่ช่วยให้เด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาได้เรียนในแอปฯ นี้ฟรีอีกด้วย
- TCASTER
ปัญหา: ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงบ่อย แถมยังเอื้อให้เกิดการกั๊กที่จนเด็กหลายคนต้องเสียสิทธิ์ ส่วนเว็บไซต์ก็มักจะล่มอยู่บ่อยๆ แถมยังใช้ภาษาเป็นทางการที่อ่านเข้าใจยาก
ทางออก: สร้างแพลตฟอร์มให้ความรู้และตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับ TCAS ฉบับเข้าใจง่าย และช่วยให้วางแผนการสอบผ่านเว็บไซต์ TCASTER ซึ่งจริงๆ ถ้าทปอ. สามารถสร้างระบบที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน หรือสามารถสื่อสารกับเด็กๆ ได้ดีกว่านี้ ก็คงไม่จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา
ขนส่งสาธารณะ
- Viabus
ปัญหา: คนทั่วไปไม่รู้ข้อมูลที่ชัดเจนของขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถเมล์ที่หลายคนไม่รู้ว่า ถ้าจะไปที่นี่ต้องขึ้นรถเมล์สายไหนและไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร จนเสียเวลาไปกับ ‘รอ’ อย่างไร้จุดหมาย หรือบางคนรอรถเมล์จนร้องไห้เลยก็มี
ทางออก: แพลตฟอร์มที่บอกข้อมูลขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถมินิบัส รถไฟฟ้า รถสองแถว หรือแม้แต่เรือโดยสาร ทั้งในกรุงเทพฯและอีก 20 กว่าจังหวัด โดยมีทั้งข้อมูลป้ายโดยสารที่ใกล้ที่สุด เส้นทางการเดินรถ พร้อมบอกตำแหน่งและเวลาที่จะมาถึงแบบเรียลไทม์ ช่วยให้เราสามารถวางแผนการเดินทางและประหยัดเวลาได้มากขึ้น
- Mayday!
ปัญหา: คนไม่ใช้รถเมล์เพราะไม่รู้ว่ารถเมล์สายนี้ไปที่ไหน ส่วนป้ายรถเมล์ออกแบบมาไม่ตอบโจทย์การใช้งาน บ้างก็อ่านยาก ตัวหนังสือเล็ก ดูยังไงก็งงเส้นทางอยู่ดี บ้างก็กีดขวางทางสัญจร
ทางออก: ออกแบบทั้งป้ายรถเมล์ ศาลารอรถเมล์ และป้ายข้อมูลระดับย่านที่ตอบโจทย์และเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน รวมทั้งสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับรถเมล์ฉบับเข้าใจง่ายผ่านช่องทางออนไลน์
- MuvMi
ปัญหา: ปัญหาการเดินทางระยะสั้นๆ (Microtransit) ตามตรอกซอกซอยที่ฟุตบาทไม่เอื้อให้คนเดิน (หรือบางที่ไม่มีฟุตบาทให้เดินด้วยซ้ำ) ส่วนค่าเดินทางในกรุงเทพฯ ก็แพงแสนแพง แถมยังสร้างมลพิษระหว่างการเดินทางอีกด้วย
ทางออก: รถ EV ขนาดเล็กสำหรับการเดินทางระยะสั้น ตามซอยแคบๆ ซึ่งรถจะคล้ายกับตุ๊กๆ ที่นั่งได้หลายคน ราคาเลยถูกลง แถมยังปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อม
- ทะเลจร
ปัญหา: ปัญหาขยะทะเล โดยเฉพาะขยะรองเท้าที่ใช้วัสดุประเภทเทอร์โมเซตติงพลาสติก (Thermosetting plastic) ที่ไม่สามารถหลอมละลายเพื่อรีไซเคิลได้ และข้อมูลจาก TDRI ระบุว่าในปี 2563 ประเทศไทยมีขยะทะเลมากเป็นอันดับ 10 ของโลก
ทางออก: นำขยะเหล่านี้มาบดและอัดกาวทำเป็นรองเท้าแตะแบรนด์ ‘ทะเลจร’ และอีกส่วนหนึ่งส่งเป็น material ให้กับแบรนด์อื่นๆ เช่น Freitag และ Starboard พร้อมตั้งเป้าหมายว่าอยากให้ทะเลจร ‘ปิดกิจการ’ เพราะนั่นหมายถึงขยะจะหมดไปจากทะเลไทยอย่างสิ้นเชิง
- ฟางไทย แฟคทอรี่
ปัญหา: ปัญหามลภาวะจากการเผา ‘ฟางข้าว’ ซึ่งในประเทศไทยมีการเผาฟางข้าวและตอซังประมาณ 29 ล้านตันต่อปี บวกกับปัญหาอาชีพที่ไม่หลากหลายในต่างจังหวัด
ทางออก: รับซื้อฟางข้าวจากท้องถิ่น แล้วนำมาแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษ ภาชนะต่างๆ โดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการผลิต เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างงานให้คนในท้องถิ่นหลากหลายวัยในช่วงหลังฤดูทำนา
ความเท่าเทียม
- Vulcan Coalition
ปัญหา: ปัญหาโอกาสการเข้าถึงงานของคนพิการ เพราะยังมีอาชีพที่ไม่หลากหลายและช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้บางองค์กรเลือกที่จะบริจาคเข้ากองทุน (ตามมาตรา 34) แทนการจ้างงานผู้พิการ (ตามมาตรา 35) รวมทั้งสังคมยังมีภาพจำต่อผู้พิการในมุมของความสงสาร ทั้งที่ผู้พิการมีศักยภาพในการทำงานมากกว่านั้น
ทางออก: สร้างอาชีพและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้พิการสามารถทำงานร่วมกันในองค์กรได้ โดยมีทั้งอาชีพสาย Software Developer และ AI Trainer
สาธารณสุข
- Agnos
ปัญหา: แม้คิวในโรงพยาบาลจะยาวเหยียดแต่กลับมีข้อมูลว่า 60% เป็นการเข้าพบแพทย์โดยไม่จำเป็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าจะเช็คอาการตัวเองยังไง พอเสิร์ชกูเกิ้ลก็เจอแต่ความเสี่ยงโรคร้าย แต่พอไปโรงพยาบาลก็ต้องเสียค่าเดินทางและรอนานทั้งวันกว่าจะได้พบหมอ
ทางออก: แอปพลิเคชั่นที่ใช้ AI มาช่วยเช็คอาการเบื้องต้นและประเมินความเสี่ยง (ทั้งทางกายและใจ) ว่าเราต้องไปโรพยาบาลหรือไม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเวลาสำหรับอาการที่ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องไปโรงพยาบาล ลดภาระให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลได้อีกด้วย
อ้างอิงจาก