ถ้าพูดถึงเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ วัฒนธรรม อาหารการกินที่ถูกปาก แสงสียามค่ำคืนที่สะท้อนวิถีชีวิตและตัวตนของ ‘คนเมือง’ ก็คงจะหนีไม่พ้น ‘เชียงใหม่’ หนึ่งจังหวัดใหญ่ทางภาคเหนือที่มีผังตัวเมืองเป็นสี่เหลี่ยม รายล้อมไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และพาดผ่านด้วยแม่น้ำสายหลักของประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายหลักของเหล่านักท่องเที่ยวที่ตั้งใจเดินทางมาเยี่ยมเยียน ถึงอย่างนั้น เมืองที่เต็มไปด้วยทรัพยากร และความรุ่มรวยทางศิลปะวัฒนธรรมแห่งนี้กลับเต็มไปด้วยปัญหา
ตั้งแต่ขนส่งสาธารณะ ค่าแรง การศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ไปจนถึงอากาศที่หายใจเข้าไป ล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตพวกเขาทั้งสิ้น แต่เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาอย่างลึกซึ้ง The MATTER ได้พูดคุยกับคนเมือง ถึงปัญหาที่พวกเขาเห็นมาตั้งแต่เด็กจนโต และเชียงใหม่ที่พวกเขาฝันอยากเห็นให้ได้สักวันหนึ่ง
คนเมืองกลุ่มแรกที่เราคุยด้วยคือ ‘มิว — นภัส’ สองสาวเพื่อนสนิท วัย 27 ปี ที่เกิดและโตมาในฐานะคนเรียนสื่อในเชียงใหม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องแยกย้ายกันไปเติบโตคนละที่หลังเรียนจบ เพราะการทำงานต่อด้านสื่อในเชียงใหม่นั้นช่างยากเย็น ทั้งสองเห็นตรงกันว่า ‘การกระจุกตัวของอำนาจ’ ทำให้โอกาสหลายๆ อย่างหายไป ซึ่งการกระจายอำนาจอาจทำให้ ‘เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับทุกคน’ ได้
“เพราะเชียงใหม่ค่าแรงขั้นต่ำมันแย่ไง” มิวตอบทันที หลังจากได้รับคำถามว่าทำไมถึงเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ พร้อมกับอธิบายเหตุผลที่ตัดสินใจห่างบ้านไกลว่า ค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ สวนทางกับภาระงานที่ครอบจักรวาล อีกทั้งยังมีเรื่องค่าครองชีพที่ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ก็สูงไม่แพ้กัน ต่างกันที่ค่าแรงเชียงใหม่นั้นไม่สัมพันธ์กับภาระที่แบกรับอยู่เลยสักนิด
“แม้หลายคนจะบอกว่า ‘ก็ค่าครองชีพมันไม่แพงเท่ากรุงเทพฯ’ แต่จริงๆ มันไม่ต่างขนาดนั้นแล้วนะ ถึงค่าครองชีพกรุงเทพฯ มันจะแพงกว่าจริง แต่ค่าแรงเชียงใหม่ก็ไม่สมดุลกับสิ่งที่ต้องจ่ายเมื่ออยู่ที่นี่อยู่ดี” มิวตอบ
เช่นเดียวกับนภัส ที่แม้ตัวจะอยู่เชียงใหม่ แต่หน้าที่การงาน รวมถึงเงินเดือนในปัจจุบันขึ้นตรงกับเมืองหลวงของประเทศ เธอเล่าว่า เธอเรียนจบคณะสื่อสารมวลชน แต่การทำงานด้านสื่อในเชียงใหม่นั้นยากมาก อีกทั้งยังมีตัวเลือกน้อย ถึงน้อยมากด้วย
“ถ้าพูดรวมๆ คือตัวเลือกงานมันน้อย คำที่เขาพูดกันว่าสมองไหล ก็คือเกิดขึ้นจริงๆ เรามีมหาวิทยาลัยใหญ่ มีชื่อเสียงของภาคเหนือ แต่คนที่อยู่และทำงานต่อในเชียงใหม่ได้จริงๆ มันน้อยมาก แม้กระทั่งคนเชียงใหม่เองที่อยู่และโตที่นี่ ก็แทบทำงานในเชียงใหม่ไม่ได้แล้ว” — นภัส
ทั้งสองเล่าว่า นอกเหนือจากเรื่องค่าแรง หรือโอกาสในการทำงานแล้ว ยังมีปัญหาที่พบเจออยู่ทุกวันอย่างเรื่องขนส่งสาธารณะ, ฝุ่นควัน PM2.5 หรือแม้กระทั่งทางเท้าที่ใช้เดิน ล้วนสะท้อนภาพใหญ่ของการกระจุกตัวของอำนาจไว้ที่ส่วนกลางที่มาตัดโอกาสต่างๆ และทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกฝังไว้อยู่ใต้เมืองอย่างไม่มีกำหนดเวลาว่าจะแก้ไขได้จริงๆ เมื่อไหร่
เราถามทั้งสองถึงภาพของเมืองเชียงใหม่ที่อยากเห็นต่อจากนี้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อยากให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่เหมาะสำหรับทุกคน’
“เราเป็นอีกคนที่ไม่อยากไปอยู่ที่อื่นเลย ดังนั้นเราเลยอยากให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่ทุกคนอยู่ได้ เราไม่อยากให้ทุกคนกลับมาที่นี่แค่เฉพาะตอนมีอีเวนต์ เราอยากให้ทุกคนอยู่ที่นี่โดยไม่ลำบาก และได้ทำในสิ่งที่อยากทำ อยากให้เป็นเมืองที่เรามีชีวิตที่เราอยากมีได้” นภัสตอบ
“เรารู้สึกว่าเราอยากให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่เหมาะกับทุกคนมากกว่านี้ ถ้าเชียงใหม่สามารถจัดการตัวเองได้ มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนไปเลือกผู้นำที่เข้าใจปัญหาในพื้นที่และแก้ปัญหากันอย่างจริงๆ จังๆ สักที” มิวตอบ
นอกเหนือไปจากมุมมองของคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อแล้ว คนใน ‘วงการศิลปะ’ เองก็พบเจอกับปัญหาเรื่องโอกาสในการทำงานไม่ต่างกัน ซึ่ง ‘พี่ส้ม’ กราฟิกดีไซเนอร์ ที่เรามีโอกาสได้พูดคุยด้วย เล่าถึงความเจ็บปวดของเด็กที่ไม่เคยอยากห่างบ้าน แต่ต้องตัดใจจากบ้านมาด้วยภาวะจำยอม
“รักบ้านก็รักแต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าต้องไป เพราะในเชียงใหม่ไม่ตอบโจทย์งานที่อยากทำเลย ทั้งๆ ที่เชียงใหม่ก็กว้าง และเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีมาก” — พี่ส้ม
พี่ส้มบอกว่า อยากให้มีหน่วยงานที่คอยส่งเสริมคนที่ทำงานด้านศิลปะมากกว่านี้ ซึ่งหน่วยงานที่มีอยู่ตอนนี้ค่อนข้างจำกัด และทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งถ้าคนเชียงใหม่สามารถเลือกผู้นำ หรือผู้แทนที่เข้าไปทำหน้าที่แทนได้ ก็คงจะมีความหวังอยู่ไม่น้อย
“ถ้าเชียงใหม่สามารถจัดการตัวเองได้คงจะมีอะไรเปลี่ยนไปเยอะ อยากได้ผู้นำที่รู้ปัญหา รู้ว่าเรามีทรัพยากรอะไร และจัดสรรให้มันเหมาะสม ใช้ให้เป็น ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นได้ก็น่าจะเจ๋งดีนะ” พี่ส้มพูดปิดท้าย
คนสุดท้ายที่เรามีโอกาสได้พูดคุยด้วยคือ ‘มายา’ นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ วัย 19 ปี ที่มาบอกเล่าปัญหาที่น่าสนใจอย่างเรื่อง ‘การศึกษา’
“สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก ที่ผ่านมาสังเกตว่ามันมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น เช่น เราจะเคยได้ยินว่า โรงเรียนในเมืองคุณภาพดีกว่าโรงเรียนใกล้บ้าน ฉะนั้นเด็กที่อยู่รอบนอกก็พยายามสอบแข่งเพื่อเข้ามาเรียนในเมือง ซึ่งโอกาสในการเข้าถึงของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ทำให้มีเด็กหลายคนที่หลุดจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีเงิน โดยเฉพาะเด็กจากเขตชนบท” มายาเล่า
“อีกอย่างคือตัวหลักสูตรที่เรียนก็มีความเชื่อมโยงกับรัฐส่วนกลางมากๆ ยกตัวอย่างว่า เราได้รู้จักประวัติศาสตร์ของภาคกลางก่อนที่เราจะได้รู้จักประวัติศาสตร์ในพื้นที่ตัวเองอีก จึงอยากให้มีการจัดหลักสูตรขึ้นมาใหม่เพื่อให้เด็กได้รู้จักท้องถิ่นของตัวเอง อยากให้มีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองมากกว่านี้ มันจะดีกับเด็กในหลายๆ ที่ไม่ใช่แค่เชียงใหม่” มายาเล่าต่อ
มายาเล่าต่อถึงปัญหาการขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่เธอเห็นในพื้นที่ที่เธอเติบโตมา อย่าง ‘น้ำประปา’ ซึ่งหลายๆ พื้นที่ในเชียงใหม่ยังไม่มีน้ำสะอาดไว้เพื่อบริโภค
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านสาธารณสุขที่เธอมองว่าคุณภาพ และความพร้อมลดหลั่นไปตามความห่างไกลรวมถึงความใหญ่ของพื้นที่ ซึ่งหลายๆ คนจำเป็นต้องเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะข้ามอำเภอเพื่อไปใช้บริการด้านสุขภาพ ในขณะที่ระบบขนส่งเองก็มีปัญหาเช่นกัน “ปัญหามันทับซ้อนกันไปหมดเลย”
“พูดไม่ได้หรอกว่าปัญหาพวกนี้จะดีขึ้นในเร็ววัน แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีความหวังว่า ถ้ามันเป็นเชียงใหม่ที่จัดการตัวเองได้ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น หรือว่าอาจจะลดขั้นตอนการทำงานที่มันผ่านส่วนกลาง รับฟังปัญหาของประชาชนจริงๆ หนูคิดว่ามันน่าจะเป็นการพัฒนาที่ถูกที่ถูกทางมากขึ้น” — มายา
มายาบอกด้วยว่า ถ้าเชียงใหม่สามารถเลือกผู้ว่าฯ เองได้ คงจะเป็นบรรยากาศที่มีความหวัง ซึ่งผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะต้องทำตามเจตจำนงของประชาชน เคารพ และทำเพื่อประชาชนมากขึ้น
“เชียงใหม่ที่หนูอยากให้เป็นคือ เมืองแห่งความหวัง เป็นเมืองที่ทุกคนไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวัง อยากให้เป็นเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องขวนขวายในสิ่งที่เขาควรจะได้อยู่แล้ว เช่น พวกสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน หรือขนส่งสาธารณะ และอยากให้เป็นเมืองที่การศึกษาเท่าเทียมมีหลักสูตรที่เปิดกว้างมากขึ้นด้วย” มายากล่าวปิดท้าย
เชียงใหม่ที่จัดการตัวเองได้ จะส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน?
มีเพียงเขตปกครองพิเศษไม่กี่จังหวัดในประเทศไทยเท่านั้นที่ ‘ผู้ว่าราชการ’ มาจากการเลือกตั้ง เมื่อมองภาพรวมของจังหวัดอื่นแล้ว แม้ว่าประชาชนจะมีสิทธิเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เช่น นายกอบต. หรืออบจ. แต่อำนาจในการบริหารงานจริงๆ แล้วอยู่ที่ระดับท้องถิ่นจริงๆ หรือ?
ตั้งแต่ถนนหนทาง การระบายน้ำ ไปจนถึงไฟฟ้าส่องสว่าง งบประมาณที่ใช้ในการจัดการล้วนได้รับการจัดสรรมาจากส่วนกลาง กระจายลงมายังภูมิภาค แล้วถึงจะลงมาสู่ท้องถิ่นในด่านสุดท้าย ซึ่งกว่าเราจะมีขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม มีอากาศสะอาดไว้หายใจ มีขั้นตอนมากมายและกินเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน
เพื่ออธิบายว่าการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ถึงเวลาที่ชาวเชียงใหม่จะลุกขึ้นมากำหนดชะตาตัวเองแล้วหรือยัง หนทางสู่การเป็น ‘มหานคร’ ที่สามารถจัดการตัวเองได้ยังอีกไกลแค่ไหน The MATTER ชวน คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ หนึ่งในคณะผู้ริเริ่มร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร มาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้
“เฮาคนเชียงใหม่ตวยกั๋น ใส่เสื้อม่อฮ่อมตวยกั๋น” ชัชวาลย์เริ่มเล่าถึงที่มาที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงสงครามสีเสื้อ ซึ่งได้มีการชวนหลายๆ ฝ่ายมาพูดคุยกัน จนได้ข้อสรุปที่ว่า ‘การกระจายอำนาจ’ ให้จังหวัดสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ที่เป็นจุดร่วมของทุกคน ซึ่งถ้าร่วมมือกันก็น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการกระจายอำนาจว่ามีข้อมูลจากประเทศไหนที่น่าสนใจบ้าง เช่น ญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศส
“รัฐบาลส่งผู้ว่าฯ จากส่วนกลางมาปกครองเชียงใหม่เป็นเวลากว่า 120 ปีแล้ว มันน่าจะถึงเวลาที่คนเชียงใหม่จะเลือกผู้นำของตัวเองได้แล้ว” — ชัชวาลย์
ชัชวาลย์เล่าต่อว่า ร่างฯ นี้ถูกนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและถูกรับในเดือนตุลาคม ปี 2556 ซึ่งหลังจากนั้นเกิดรัฐประหาร ทำให้ร่างฯ นี้เงียบไป เพราะรัฐบาลในเวลานั้นไม่ให้พูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นภัยความมั่นคง
“เราก็แค่อยากจะเป็นเหมือนกรุงเทพฯ การที่กรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ ก็ไม่เห็นจะเป็นภัยความมั่นคง เราอยากเห็นการบริหารจัดการที่มีการพัฒนาโดยคนเชียงใหม่ เอาองค์ความรู้ เอาทุนทางสังคมมาช่วยกัน” ชัชวาลย์กล่าว
เมื่อพูดถึงเรื่องเร่งด่วนในตัว พ.ร.บ.นี้ ชัชวาลย์บอกว่า งบประมาณ ก็ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเชียงใหม่คือเมืองเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ ซึ่งเมืองมันโตขึ้นมากแต่รถไฟฟ้าสักสายยังทำไม่ได้เพราะต้องรอการตัดสินใจของส่วนกลาง ขณะที่เชียงใหม่เองก็มีปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะสูงมาก
นอกเหนือจากเรื่องงบประมาณแล้ว การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก็สำคัญไม่แพ้กัน ชัชวาลย์เล่าถึงภาพที่อยากเห็นคนเชียงใหม่ลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง และอยากเห็นแผนพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับบริบทของเชียงใหม่
“เราอยากทันสมัย แต่ไม่ได้อยากทันสมัยแบบกรุงเทพฯ เราอยากทันสมัยแบบเชียงใหม่ที่มีประวัติศาสตร์มา 728 ปี เราเป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมค่อนข้างโดดเด่น มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ เราจึงอยากพัฒนาในทิศทางที่เราอยากเห็น อยากเป็น และอยากไป” ชัชวาลย์กล่าว
การกระจายอำนาจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเชียงใหม่?
“การกระจายอำนาจสำคัญมากสำหรับเชียงใหม่ เพราะเมืองมันโตขึ้นทุกวันและปัญหามันเยอะตามมาด้วย ซึ่งระบบที่เป็นอยู่มันแก้ไม่ได้ และทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นอีก เช่น ฝุ่นควัน PM2.5 ที่ยังแก้ไม่ได้ ประกอบกับถ้าเป็นระบบราชการแบบเดิมจะใช้เวลานาน งบประมาณก็ไม่มี ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องวิกฤต ..สิ่งนี้น่าเศร้ามาก
แต่ในตอนนี้เราได้ยื่นร่างฯ เดิมที่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมแล้ว ซึ่งสภาฯ ได้ตอบกลับแล้วว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและให้เราล่ารายชื่อได้ เราในฐานะภาคประชาชนก็จะทำควบคู่กับสภาฯ ไปด้วย” ชัชวาลย์เล่า
เชียงใหม่มหานคร: มันต้องสำเร็จ
“ถ้าเป็นในมุมมองของผมแล้ว เรื่องการกระจายอำนาจเป็นทิศทาง หรือเสียงเรียกร้องของประชาชน เมื่อจังหวัดและประชาชนเติบโตขึ้นผ่านการเรียนรู้ทางการเมืองมาหลายสมัย ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องนี้มาเยอะพอสมควร ซึ่งเขาเติบโตและมีความพร้อมในการจัดการตัวเองมากขึ้น
ผมมองว่าการพัฒนาการทางการเมืองไทยยังไงก็ต้องไปทางนี้ เพราะการรวมศูนย์อำนาจไว้ตรงกลาง ในขณะที่สังคม และการสื่อสารมันพัฒนาไปไกลมาก ไม่มีอะไรจะมาขวางได้แน่ๆ เพียงแต่ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และอย่างไรเท่านั้นเอง
ดังนั้นการเคลื่อนไหวที่มีคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวมาร่วมมากขึ้น ผมถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และผมว่าเป็นตัวชี้วัดว่ายังไงก็ตาม ‘มันต้องสำเร็จ’ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง” ชัชวาลย์กล่าว