เราจะรู้ได้ยังไง ว่าตอนนี้โลกเผชิญกับวิกฤตสภาพอากาศมากแค่ไหนแล้ว?
ล่าสุดนี้ หน่วยงานในอังกฤษจัดทำโครงการที่มุ่งหาวิธีคาดการณ์ภัยพิบัติทางสภาพอากาศ โดยใช้ฝูงโดรน การตรวจจับรังสีคอสมิก รูปแบบการบานของแพลงก์ตอน และอื่นๆ ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์และแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ละเอียดที่สุดเท่าที่มีมา
โครงการนี้มีเป้าหมายหลักคือการศึกษา ‘จุดพลิกผัน’ (tipping point) ของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายถึง ‘จุดที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่อาจย้อนกลับได้’ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิโลกถูกผลักดันให้สูงเกินขีดจำกัด
หน่วยงานวิจัยและประดิษฐ์ขั้นสูงของสหราชอาณาจักร (Aria) ผู้สนับสนุนโครงการ มอบเงิน 81 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,445 ล้านบาท) ให้กับผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด 27 ทีม เพื่อทำภารกิจหาสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงภัยพิบัติทางสภาพอากาศครั้งใหญ่
การค้นหาจะเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ การละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างมาก และการพังทลายของกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารอย่างรุนแรง
การกำหนดว่าจุดพลิกผันนั้นเป็นไปได้หรือไม่นั้น เป็นภารกิจแรกของโครงการ Aria ที่มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ซึ่งจุดพลิกผันนั้นมีความซับซ้อนในตัวมันเอง และยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนั้น การค้นหาจะสำเร็จได้ก็ต้องมีข้อมูลมหาสมุทรและน้ำแข็งทั้งในปัจจุบันและในอดีตที่ดีขึ้น ละเอียดขึ้น รวมถึงต้องมีแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ดีขึ้นด้วย
“เรามุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายระบบตรวจสอบสภาพอากาศเพื่อตรวจจับสัญญาณเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสภาพอากาศของเรา ในลักษณะเดียวกับที่เราใช้สถานีตรวจสอบเพื่อตรวจจับและเตือนสึนามิ” เจมมา เบล (Gemma Bale) และ ซาร่าห์ บอนเดียค (Sarah Bohndiek) ผู้อำนวยการร่วมของโครงการ Aria กล่าว
พวกเขาเสริมว่า “ด้วยระบบเหล่านี้ เราสามารถจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นให้กับผู้ตัดสินใจเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างกะทันหันได้”
จุดมุ่งหมายของโครงการ Aria คือการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่จะสามารถคาดการณ์จุดเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระดับทศวรรษ ซึ่งจะเป็นแรงจูงให้ทั่วโลกเร่งดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
โดย ศาสตราจารย์ ทิม เลนตัน (Tim Lenton) แห่งมหาวิทยาลัย Exeter และหัวหน้าทีม Aria กล่าวว่า แม้ว่าจะหยุดยั้งจุดเปลี่ยนนี้ไม่ได้ การเตือนภัยก็จะช่วยให้สังคมมีเวลาอันมีค่าในการเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบครั้งใหญ่
อีกวิธีการที่ช่วยได้คือการสังเกตแพลงก์ตอน เพราะการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแพลงก์ตอนจึงจะช่วยเตือนเราถึงปัญหาในมหาสมุทรได้
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น แพลงก์ตอนอาจเปรียบเทียบได้กับ ‘นกขมิ้นในเหมืองถ่านหิน’ ที่ในสมัยก่อนคนงานเหมืองจะเอานกขมิ้นลงไปในเหมืองด้วย เพราะนกขมิ้นมีความไวต่อก๊าซพิษ ถ้าก๊าซพิษรั่ว นกขมิ้นจะตายก่อน ทำให้คนงานรู้ตัวและหนีออกมาได้ทัน
แพลงก์ตอนก็เช่นกัน คือเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในทะเล ถ้าแพลงก์ตอนเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจเป็นสัญญาณว่ามหาสมุทรมีปัญหา
ทีมนักวิจัยจะใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า holographic plankton imaging device ซึ่งทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการติดตามแพลงก์ตอน โดยเครื่องมือนี้จะติดกับเรือขนส่งสินค้า หุ่นยนต์ใต้น้ำ และสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ เช่น วาฬ เพื่อเก็บข้อมูลแพลงก์ตอนทั่วโลก
ดร.แคลร์ ออสต์เล (Dr Clare Ostle) บอกว่า การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกับการติดตามแพลงก์ตอนที่มีมานาน จะช่วยสร้างระบบที่ไม่เพียงแค่สังเกตการเปลี่ยนแปลง แต่ยังสามารถทำนาย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในมหาสมุทรได้ด้วย หมายความว่า นักวิทยาศาสตร์จะสามารถรู้ล่วงหน้าว่ามหาสมุทรอาจมีปัญหาอะไร เช่น มลพิษ หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ จากการสังเกตแพลงก์ตอน
นอกจากนี้ นักวิจัยจะพัฒนาแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่มีความละเอียดสูง โดยใช้ข้อมูลจริงในอดีตมาฝึกฝน เพื่อทดสอบความน่าเชื่อถือของสัญญาณเตือน และจะพัฒนาแบบจำลองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อพยากรณ์ว่าจุดพลิกผันอาจเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ไหน
แม้ว่าการพยากรณ์จุดพลิกผันจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ความร่วมมือของทีมต่างๆ ทำให้โครงการนี้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และอาจทำให้โลกของเราเตรียมรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะมาถึงได้มากขึ้น
อ้างอิงจาก