เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาสูงถึง 25% และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ต้องกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้สินค้าของสหรัฐฯ ที่ 25% เช่นกัน
แต่ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่สู้กลับ เพราะชาวแคนาดาที่เป็นเจ้าของร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ ต่างพากันนำผลิตภัณฑ์จากอเมริกาออกจากเมนู เพื่อส่งสัญญาณว่าพวกเขาจะไม่ยอมอีกต่อไป
ร้านกาแฟ Coco & Bean ในเวสต์ไอแลนด์ ต่อต้านโดยเปลี่ยนชื่อกาแฟ ‘อเมริกาโน’ (Americano) เป็น ‘Canadiano’ โดย แอชลีย์ เมอร์ด็อค (Ashley Murdoch) เจ้าของร่วมของร้าน กล่าวว่า “เราสนุกกับแนวคิดนี้ และกับการเปลี่ยนชื่อ … เราต้องการแสดงให้เห็นว่าเราพยายามสนับสนุนชุมชนของเรา”
ยังมีอีกหลายร้านที่เปลี่ยนชื่อเมนูอเมริกาโนเช่นเดียวกันกับร้านดังกล่าว ซึ่งการเปลี่ยนชื่ออาหารเพื่อต่อสู้ทางการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนไปในช่วงปี 2003 ก็มีตัวอย่างที่ร้านอาหารอเมริกันเปลี่ยนชื่อ ‘เฟรนช์ฟรายส์’ (French fries) เป็น ‘Freedom Fries’ เพื่อต่อต้านสงครามอิรักของฝรั่งเศสเช่นกัน
นอกจากการเปลี่ยนชื่อ ยังพบการนำสินค้าจากอเมริกันออกจากร้านอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น จอห์น เอ็ดเวิร์ด กัมบลีย์ (John Edward Gumbley) ประธานกลุ่ม JEGantic ซึ่งบริหารบาร์ Yoko Luna ก็ได้นำแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อเมริกันหลายแบรนด์ออกจากบาร์ ทั้งไวน์จากแคลิฟอร์เนีย วอดก้าจากไมอามี และแม้แต่วิสกี้ Jack Daniel’s ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในบาร์และคลับของเขา
“นี่คือ ‘แคนาดาต้องมาก่อน’ และทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะวิธีเดียวที่จะยุติปัญหานี้ได้จริงๆ คือต้องรู้สึกเจ็บปวดด้วย” เขากล่าวถึงสหรัฐฯ “เราต้องหาวิธีต่อสู้กลับและค่อยๆ แยกตัวออกมาให้เป็นอิสระจากพวกเขาในท้ายที่สุด เพื่อที่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก”
นอกจากนั้น Société des alcools du Québec (SAQ) คณะกรรมการด้านสุราของรัฐควิเบก ก็ได้เริ่มนำผลิตภัณฑ์สัญชาติอเมริกันออกจากชั้นวางสินค้าตามคำขอของนายกรัฐมนตรี ฟรานซัวส์ เลโกต์ (François Legault)
รวมถึง มอร์รี เบเกอร์ (Morrie Baker) เจ้าของร้าน Burger Bar Crescent ยังเลือกที่จะนำวิสกี้ Jack Daniel’s ออกจากชั้นวางสินค้าเช่นกัน แม้ว่า Jack Daniel’s ะเป็นผู้สนับสนุนหลักของเขาในช่วงที่มีการแข่งขัน Formula One ในเมืองที่เพิ่งจะจัดไปก็ตาม
แม้เขาจะคาดว่า ช่วงฤดูร้อนคงจะมีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันหลังไหลเข้ามา เพราะค่าเงินดอลลาร์แคนาดาที่ต่ำลง แต่เขาเขาก็ยังมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของแคนาดาเท่านั้น
“เราไม่ได้ซื้อสินค้าจากอเมริกา เราเชื่อในการพึ่งพาตัวเอง เราเป็นชาวแคนาดาและเราต้องสนับสนุนตัวเอง” เขากล่าว
อ้างอิงจาก