‘นโยบายต่อต้านยาเสพติด’ ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี ที่รัฐบาลกระตือรือร้นจะแก้ไขปัญหา แต่เมื่อประเด็นนี้เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ ผ่านนโยบายของ โรดริโก ดูเตอร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กลับถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’
เพราะเหตุใดนโยบายดังกล่าวถึงถูกมองอย่างนั้น จนนำมาสู่การออกหมายจับดูเตอร์เตจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) The MATTER ชวนไปทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้นกัน
สงครามปราบปรามยาเสพติดของดูเตอร์เต ถือเป็นผลงานเด่นในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา เป็นเวลานานกว่า 20 ปี (รวมทั้งช่วงที่ดำรงตำแหน่ง และไม่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่) ซึ่งในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง มีข้อมูลว่า มีผู้ถูกสังหารรวมมากกว่า 1,000 ราย
และคำมั่นสัญญาของเขาในการปราบปรามกลุ่มค้ายาทั่วประเทศ ก็กลายเป็นจุดเด่นของแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จนเข้าได้รับตำแหน่งในปี 2016 และหลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ดูเตอร์เตก็ให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหายาเสพติดที่ผิดกฎหมายของประเทศภายใน 6 เดือน
ในครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวว่า “เชื่อเถอะ ผมไม่สนใจสิทธิมนุษยชน”
วันที่ 1 กรกฎาคม 2016 ซึ่งเป็นวันแรกแบบเป็นทางการ ของดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตำรวจได้ดำเนินการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย และปฏิบัติการนองเลือดในอีก 6 ปีต่อมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมประมาณ 7,000 ราย ซึ่งมีคนทุกเพศ ทุกวัย
ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักข่าวอัล จาซีรา ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2016 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 รายทั่วประเทศ โดยในนั้นมีผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด 2,041 รายที่ถูกสังหารในการปฏิบัติการของตำรวจ ส่วนเหยื่อรายอื่นๆ ถูกสังหารโดยมือปืนที่ไม่ทราบชื่อ แต่ต่อมาก็พบว่า มือปืนที่ว่าก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เมื่อดูเดอร์เตสิ้นสุดวาระในปี 2022 นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนและอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ประเมินว่า น่าจะมีผู้คนราว 30,000 คนถูกตำรวจและบุคคลที่ไม่ระบุชื่อสังหาร แต่ตำรวจรายงานไว้เพียง 7,000 รายเท่านั้น ซึ่งยังไม่นับรวมผู้เสียชีวิตจากผู้ก่อเหตุที่ไม่ทราบชื่อ
ผู้ที่เสียชีวิตจากสงครามนี้ ไม่ได้มีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กเล็กก็ถูกสังหารเช่นกัน จากรายงาน ณ เดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งเป็นเวลารวม 4 ปีในสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เต มีเด็กๆ เสียชีวิตจากตำรวจหรือผู้ก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องประมาณ 129 คน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่อ้างอิงมาจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว
หนึ่งในเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกสังหารคือ ไมกา อุลปินา (Myca Ulpina) วัย 3 ขวบ ซึ่งถูกยิงระหว่างการบุกจู่โจมพ่อของเธอในปี 2019 โดยตำรวจอ้างว่าเด็กถูกใช้เป็นโล่ระหว่างปฏิบัติการ และ อัลเทีย เฟ็ม บาร์บอน (Althea Fhem Barbon) วัย 4 ขวบ ก็ถูกสังหารเช่นกัน หลังจากที่ตำรวจยิงใส่เธอและพ่อของเธอขณะที่พวกเขาขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งตำรวจอ้างว่าผู้เป็นพ่อนั้นเป็นผู้ค้ายาเสพติด
รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในปี 2017 ระบุว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่ถูกสังหารนั้น มีฐานะที่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน และรายงานยังระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสารภาพว่าได้รับเงินรางวัลเทียบเท่า 150-300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,000-10,000 บาทไทย) สำหรับผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดทุกรายที่พวกเขาฆ่า ซึ่งนี่อาจมีส่วนสร้างแรงจูงใจในการฆ่าคนให้มากขึ้นได้
ทั้งนี้ ยังมีผู้ที่รอดชีวิตมาจากปฏิบัติการเหล่านี้ได้ และออกมาเล่าเรื่องราวแก่สื่อมวลชน และกลายเป็นพยานหลักฐานในการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
ปี 2016 ฟรานซิสโก ซานติอาโก จูเนียร์ (Francisco Santiago Jr) เล่ากับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า เขาและเพื่อนอีกคนถูกตำรวจควบคุมตัวในมะนิลา ก่อนที่จะถูกนำตัวไปที่ตรอกมืดและถูกยิงหลายครั้ง โดยเพื่อนของเขาถูกฆ่าตายในที่เกิดเหตุ แต่ซานติอาโกสะดุดล้มลงกับพื้น จึงแกล้งตาย เม่อนักข่าวมาถึงที่เกิดเหตุจึงลุกขึ้น
และในปี 2017 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พบห้องขังที่ซ่อนอยู่ภายในสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในมะนิลา โดยมีผู้ต้องขัง 12 คนถูกขังรวมกันอยู่ภายใน ซึ่งไม่มีบันทึกการจับกุม และตำรวจไม่ได้แจ้งให้ครอบครัวหรือทนายความทราบเกี่ยวกับการหายตัวไปของพวกเขา แต่แม้เรื่องนี้จะฟังดูผิดเพียงใด ในปี 2021 รัฐบาลก็ยกฟ้องข้อกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ากักขังโดยผิดกฎหมาย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ดูเตอร์เต ถูกควบคุมตัวที่สนามบินตามหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แล้ว ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า หมายจับของ ICC กล่าวหาว่าดูเตอร์เตมีความผิดทางอาญา ในคดีฆาตกรรมผู้คนอย่างน้อย 43 รายระหว่างปี 2011-2019 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามปราบปรามยาเสพติดระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาทางตอนใต้ของประเทศ และต่อมา คือในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2016-2022
ดูเตอร์เตระบุว่า ต้องการให้การพิจารณาคดีของเขาเกิดขึ้นในศาลในฟิลิปปินส์ “ถ้าฉันทำสิ่งที่ผิดบาป ก็ดำเนินคดีของฉันในศาลฟิลิปปินส์” เขากล่าวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะถูกควบคุมตัวในมะนิลา
จากการจับกุมดูเตอร์เต ลอร์ ปาสโก (Llore Pasco) แม่ของชายหนุ่มสองคนที่ถูกฆ่าตายในปฏิบัติการของตำรวจ บอกกับอัลจาซีราว่า “ดวงตาของฉันยังเต็มไปด้วยน้ำตา ในที่สุด หลังจากรอคอยมานานหลายปี ในที่สุดมันก็เกิดขึ้น” พร้อมระบุว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นความหวังสุดท้ายของเธอในการแสวงหาความยุติธรรม เพราะมันไม่มีสิ่งนั้นในฟิลิปปินส์
ลูกชายของเธอ 2 คน หายตัวไปจากละแวกบ้านในเดือนพฤษภาคม 2017 และได้ทราบข่าวทางโทรทัศน์ในวันรุ่งขึ้นว่าทั้งสองคนถูกฆ่าตาย โดยตำรวจกล่าวหาว่าปล้นทรัพย์
เจน ลี (Jane Lee) ภรรยาของเหยื่อสงครามยาเสพติด กล่าวว่า “ตอนนี้ดูเตอร์เตเพิ่งถูกจับกุม แต่ตอนนั้นสมาชิกในครอบครัวของเราถูกสังหารทันที” พร้อมระบุว่า ระบบยุติธรรมฟิลิปปินส์นั้นไม่มีความเท่าเทียม
อ้างอิงจาก