การเยือนไทยของ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการเมียนมา ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ในวันนี้ โดยเขาได้เข้าร่วมประชุม BIMSTEC ในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้คนจับตาการมาถึงในครั้งนี้และวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
วันนี้เราชวนไปรู้จักที่มาที่ไป และคดีที่ มิน อ่อง หล่าย กำลังเผชิญ รวมถึงการประณามจากประชาคมโลกกัน
ผู้ก่อรัฐประหาร
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้ารับราชการในกองทัพบกเมียนมาในปี 1977 และได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ ตั้งแต่ปี 2011
1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพพม่าหรือทัตมาดอว์ ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซูจี ให้เหตุผลว่า ชัยชนะของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 นั้น ไม่เป็นธรรมและเต็มไปด้วยการทุจริต พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี และจับกุมตัว ซูจี ไปในวันเดียวกัน
ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารจำนวนหนึ่ง จึงออกมาชุมนุมเรียกร้อง แต่ตามรายงานระบุว่า ถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ถูกจับกุม รวมถึงยังมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต
นอกจากนี้ ในปี 2017 มิน อ่อง หล่าย ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา ซึ่งนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ของชาวโรฮิงญาไปยังบังกลาเทศ
ขณะนั้น กองทัพเมียนมา ได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ ซึ่งมีเป้าหมายคือชุมชนชาวโรฮิงญา ปฏิบัติการนี้ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวาง รวมถึงการสังหาร การข่มขืน การเผาทำลายหมู่บ้าน และการกระทำอื่น ๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จนชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนต้องอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
การใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงและประชาชนชาวเมียนมาอย่างโหดร้ายทารุณ ทำให้เกิดการประณามจากนานาชาติ และในประเด็นชาวโรฮิงญา องค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งได้กล่าวหาว่าการกระทำของกองทัพเมียนมาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ศาลอาญาระหว่างประเทศยื่นขอหมายจับ
วันที่ 27 พฤศจิากายน 2024 หัวหน้าอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อขอออกหมายจับ มิน อ่อง หล่าย ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
แม้เมียนมาจะไม่ได้เป็นสมาชิก ICC แต่ผู้พิพากษา ICC ชี้ว่า ICC มีขอบเขตอำนาจเหนืออาชญากรรมข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก ICC จึงให้อัยการจึงสามารถเปิดการสอบสวนได้ และนำมาสู่การขอออกหมายจับข้างต้น
แถลงการณ์ระบุว่า สำนักงานอัยการ ICC ได้สืบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี 2019 โดยพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า มิน อ่อง หล่าย มีความรับผิดชอบทางอาญาต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในการเนรเทศและกดขี่ชาวโรฮิงญา ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม ถึง 31 ธันวาคม 2017 โดยกองทัพเมียนมาและหน่วยงานอื่น ๆ
โดยสำนักอัยการจะขอออกหมายจับเพิ่มเติมต่อไป “เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวโรฮิงญาไม่ถูกลืม และพวกเขามีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” แถลงการณ์จากสำนักอัยการ ICC ระบุ
หมายจับจากอาร์เจนตินา
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2025 ศาลอาร์เจนตินา ก็ได้ออกหมายจับ มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่อีกหลายคน ฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นกัน
คดีนี้เริ่มต้นจากการยื่นฟ้องโดย องค์กรระหว่างประเทศเพื่อปกป้องชาวพม่าโรฮิงญาแห่งสหราชอาณาจักร (Burmese Rohingya Organisation UK หรือ BROUK) และศาลอาร์เจนตินารับพิจารณาคดี ภายใต้อำนาจตามหลักเขตอำนาจศาลสากลว่า ประเทศต่างๆ สามารถดำนเนิคดีอาชญากรรมความผิดร้ายแรงได้ โดยไม่คำนึงถึงสถานที่เกิดเหตุ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรืออาชญากรรมสงคราม
ซึ่งข้อกล่าวหาที่ระบุในคำฟ้อง ถือเป็นอาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในตราสารทางกฎหมายอาญาระหว่างประเทศต่าง ๆ และยังรวมถึงอาชญากรรมที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งกระทำโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองและทหารที่มีอำนาจในประเทศนั้น
การที่ มิน อ่อง หล่าย มีหมายจับติดตัว พร้อมกับหลักฐานต่างๆ ที่ทำให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดในเมียนมา ณ ขณะนี้ ทำให้การมาเยือนประเทศไทยของ มิน อ่อง หล่าย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
เดินทางเยือนต่างประเทศนับครั้งได้
หลังรัฐประหาร มิน อ่อง หล่าย ได้ไปเยือนต่างประเทศ เช่นประเทศรัสเซีย และจีน รวมถึงไทย ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถาม และประณามรัฐไทยที่เชิญเข้าร่วมการประชุม
คืนก่อน องค์กรภาคประชาสังคม ไทย-เมียนมา ได้อ่านแถลงการณ์ประณาม ระบุว่า “การที่รัฐบาลไทยเชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย มาร่วมประชุมระดับนานาชาติถือเป็นการให้ความชอบธรรมต่ออาชญากรที่ทั่วโลกประณาม และอาจส่งผลให้กองทัพเมียนมาเข้าถึงเงินทุน และทรัพยากรในการซื้ออาวุธเพื่อทำสงครามเข่นฆ่าชีวิตคนเมียนมามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าอับอายและเสียหายต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง
ด้าน กรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายต่อสื่อมวลชนว่า ในฐานะเจ้าภาพ ไทยทำไปตามความรับผิดชอบ ตามกฎบัตรของ BIMSTEC ที่จะต้องเชิญผู้นำของสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ เข้าร่วมประชุม เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งขาดประเทศใดประเทศหนึ่งไป จะทำให้การขับเคลื่อนไม่สมบูรณ์
บรรยากาศวันนี้ ซึ่งจะเกิดการประชุม BIMSTEC ได้ปรากฏป้ายต่อต้านผู้นำเมียนมา ติดบนสะพานตากสิน บริเวณไม่ไกลจากโรงแรมแชงกรีล่า ที่พักของผู้นำเมียนมา เขียนว่า “We do not welcome Murder Min Aung Haing!” หรือ “เราไม่ต้อนรับ ฆาตกร มิน อ่อง หล่าย”
อ้างอิงจาก