“รัฐบาลทหารที่ถูกกีดกันกิจกรรมทางการทูตมาตลอด จะมีแพลตฟอร์ม มีพื้นที่มากขึ้น จากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ภาพลักษณ์เรื่อง ‘การถูกยอมรับ’ ในชุมชนระหว่างประเทศก็จะดีขึ้นบ้าง”
เมื่อวานนี้ (3 เมษายน) ภาคประชาสังคมไทย-เมียนมา ออกแถลงการณ์ประณามไทย ที่เชิญ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ประธานาธิบดีรักษาการของเมียนมา ร่วมประชุมผู้นำ บิมสเทค (BIMSTEC) และยังเรียกร้อง 4 ข้อ ต่อผู้นำที่เข้าประชุมในครั้งนี้ ได้แก่ ไม่เจรจา ไม่จับมือ ไม่การร่วมฟอกขาวให้เผด็จการทหาร พร้อมทั้งเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาหยุดยิง และปกป้องประชาชน
อย่างไรก็ตาม การประชุม BIMSTEC ที่จัดขึ้นวันที่ 3-4 เมษายน ก็เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างปกติ ท่ามกลางกระแสต่อต้านที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีการต่อว่าและตำหนิ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ที่ให้การต้อนรับ มิน อ่อง หล่าย ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็น ‘อาชญากรสงคราม’
ภาพลักษณ์ของไทยจะเป็นอย่างไร และการปรากฏตัวของผู้นำรัฐบาลทหาร ในการประชุมดังกล่าวมีนัยอะไร? The MATTER จึงพูดคุยกับ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รัฐบาลไทยต้องยอมรับ ‘ผล’ ที่ตามมา
อ.ดุลยภาค เริ่มต้นคุยกับเราถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับไทยหลังจากนี้ว่า ภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนเมียนมา ที่ไม่พอใจ มิน อ่อง หล่าย และมองว่าเขาเป็น ‘อาชญากรต่อมวลมนุษยชาติ’ ได้เขียนจดหมายหลายร้อยฉบับ เพื่อไม่ให้รัฐบาลไทยต้อนรับผู้นำคนนี้ แต่รัฐบาลไทยได้ทำการต้อนรับไปแล้ว
“ผลลัพธ์ที่ตามมาก็จะมีการประท้วงจากภาคประชาสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทย ที่ในท้ายที่สุดรัฐบาลต้องยอมรับเอาไว้”
เขาระบุต่อ ทั้งนี้การที่เมียนมาเข้าร่วมประชุม BIMSTEC ก็ถือเป็นโอกาสและมีข้อดีอื่นๆ อยู่บ้าง เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ ประเทศจากเอเชียใต้เข้าร่วมด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน และยังเกิดการหารือกันระหว่างไทยกับเมียนมา หรือกับสมาชิกอื่นๆ ทั้งเรื่องการพัฒนาการค้า การขนส่ง การปราบปรามยาเสพติด การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สแกมเมอร์ แก๊งคอลเซนเตอร์
บิมสเทค (BIMSTEC) คือ การร่วมมือกันของอ่าวเบงกอล ในเรื่องการค้า การลงทุน การพัฒนา สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง เป็นต้น ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1997 มีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า และไทย
“การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยเองได้รับพื้นที่ในการเชื่อมต่อกับเมียนมามากขึ้น เนื่องจากเขา [มิน อ่อง หล่าย] ยังเป็นรัฐบาลอยู่ ก็อาจจะส่งผลดีต่อไทย ในการเป็น ‘สะพานเชื่อมต่อ’ เพื่อระงับความขัดแย้ง แต่เป็นดาบสองคมอยู่ดี”
อ.ดุลยภาค ให้เหตุผลว่า แม้ว่าการได้มีพื้นที่พูดคุยกับ มิน อ่อง หล่าย จะทำให้ไทยเรามีโอกาสในการเชื่อมต่อกับรัฐบาลทหารเมียนมามากยิ่งข้ึน แต่ขณะเดียวกันการเชื่อมต่อดังกล่าว อาจทำให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือฝ่ายต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมถึงประชาคมโลกบางส่วนไม่พอใจ
ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องชั่งน้ำหนักวางสมดุลดีๆ ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการความสงบเรียบร้อย และภาพลักษณ์ของรัฐบาลเองด้วย
ผู้นำรัฐบาลทหาร ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วม BIMSTEC
รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ยอมรับว่า การเข้าร่วม BIMSTEC ของเมียนมา ถือว่ามีประโยชน์ต่อ มิน อ่อง หล่าย โดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาในวงประชุม ASEAN มีการกีดกันรัฐบาลทหารจากหลายกลุ่ม จนเมียนมาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมทางการทูต หรือการร่วมประชุม summit ต่างๆ แต่ BIMSTEC ไม่ได้มีข้อห้ามแบบนั้น ดังนั้นผู้นำเมียนมาจึงเดินทางมาเข้าร่วมได้

cr. AFP
การเข้าร่วมครั้งนี้ เมียนมาจะมีช่องทางมากขึ้น ในการเข้าไปคุยกับประเทศต่างๆ ทั้งเรื่องของการจัดการภัยพิบัติ ความร่วมมือด้านอื่นๆ จากประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างอินเดีย
“รัฐบาลทหารที่ถูกกีดกันกิจกรรมทางการทูตมาตลอด จะมีแพลตฟอร์ม มีพื้นที่มากขึ้น จากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ภาพลักษณ์เรื่อง ‘การถูกยอมรับ’ ในชุมชนระหว่างประเทศก็จะดีขึ้นบ้าง”
เขาขยายความเพิ่มว่า และภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจะเป็นการเก็บแต้มให้กับรัฐบาลชุดนี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
ทั้งนี้ การมาร่วมประชุม BIMSTEC ของ มิน อ่อง หล่าย ก็เป็นดาบสองคม เพราะมีคนออกมาคัดค้านและประท้วงจำนวนมาก ซึ่งหากพื้นที่ข่าวเต็มไปด้วยการบอกว่า “ผู้นำคนนี้ เป็นเผด็จการ เป็นอาชญากรสงคราม” ก็จะทำให้เขาเป็นเหมือนบุคคลอันตรายในวงการทูตมากขึ้น ที่ไปเยือนที่ไหนก็มีคนประท้วงโห่ขับไล่