“งานหนักไม่เคยทำร้ายใคร” คำพูดนี้เราได้ยินกันบ่อย แต่ในความจริงแล้ว มีหลายครั้งที่พิสูจน์ว่า งานที่หนักเกินไปมันส่งผลต่อทั้งร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงชีวิตของผู้คนได้จริงๆ
หลายวันมานี้มีข่าวที่ ‘หมออินเทิร์น’ หรือหมอจบใหม่หลายคน ได้ลาออกจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งพร้อมๆ กัน และส่งผลให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ตรวจสอบถึงกรณีนี้
อย่างไรก็ดี กรณีหมออินเทิร์นลาออกเป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยมาพักใหญ่แล้ว และดูเหมือนว่าในแต่ละปี ปัญหาเหล่านี้ก็วนซ้ำกลับมาเรื่อยๆ จนราวกับว่านี่คือปัญหาที่ฝังตัวอยู่แน่นในระบบสาธารณสุขไทยไปแล้ว
แล้วหมออินเทิร์นต้องเจอกับอะไรบ้าง?
ปัญหาใหญ่มากๆ เรื่องแรกเลยคือชั่วโมงการทำงาน ที่หลายคนยืนยันว่า พวกเขาต้องทำงานกันสัปดาห์ละ 100-120 ชั่วโมง (ขณะที่คนทั่วไปควรได้ทำงานกันวันละ 40-45 ชั่วโมง) สาเหตุที่เป็นแบบนั้น ก็เพราะว่า พวกเขามีภาระการอยู่เวรกัน 2-4 วัน และต้องทำงานกัน
แพทย์จากกลุ่มสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า ถึงแม้จะเป็นวันหยุดแต่หมออินเทิร์นก็ยังไม่ได้พัก รวมถึงไม่ได้ค่า OT จากการทำงานเพิ่มเติมด้วย
“ก็คือจะไม่มีวันที่ได้หยุดเลย ซึ่งตรงนี้ก็ไม่มีค่าตอบแทน [เพิ่มเติม หรือค่า OT] เพราะไม่ถือว่าเป็นเวลางานตามที่ราชการกำหนด แต่เป็นสิ่งที่ต้องมาทำเพราะไม่มีใครดูแลผู้ป่วยในให้เรา” พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร จากกลุ่มสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เคยกล่าวไว้
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุ คือจำนวนแพทย์ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนคนไข้ เมื่อจำนวนหมอในระบบไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในที่ห่างไกล หมอเองก็ต้องวิ่งรอกทำงานกันไม่มีหยุด
ทั้งนี้ยังมีเรื่องภาระงานที่มากมายก็เป็นสิ่งที่หมออินเทิร์นพร้อมใจกันสะท้อนออกมานอกจากการรักษาคนไข้แล้วพวกเขายังต้องมีหน้าที่ดูแลเอกสารต่างๆด้วยมิหนำซ้ำในบางแห่งด้วยความที่หมออินเทิร์นเป็นรุ่นน้องก็มักจะถูกรุ่นพี่บางคนยัดเยียดงานให้ทำเพิ่มเติมไปอีก
เมื่อทั้งชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป บุคคลากรในระบบไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วย รวมถึงค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับภาระงานเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ จึงทำให้หมออินเทิร์นจำนวนไม่น้อยตัดสินใจลาออก และต้องยอมทิ้งความฝันของตัวเองไป เพราะปัญหาในเชิงโครงสร้าง และวัฒนธรรมที่ฝังลึกอยู่ในระบบสาธารณสุขของบ้านเรา
#Brief #TheMATTER