เอเชียใต้ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของประชากรราว 1.9 พันล้านคน ถือว่ามีความเสี่ยงต่อคลื่นความร้อนอย่างมาก โดยประชาชนหลายคน ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เผชิญกับความร้อนจัดสูง รวมถึงขาดการเข้าถึงระบบทำความเย็นพื้นฐาน การดูแลสุขภาพ หรือน้ำที่จะช่วยคลายร้อน
แม้ที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียใต้จะต้องเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดอยู่ทุกปี แต่ปีนี้กลับมาถึงเร็วเกินคาด โดยตั้งแต่เดือนเมษายน พื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียและปากีสถาน ก็ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ากำลังกลายเป็น ‘ภาวะปกติใหม่’ (new normal)
โดยปกติแล้ว อุณหภูมิในภูมิภาคนี้มักจะสูงขึ้นตลอดเดือนพฤษภาคม และสูงสุดในเดือนมิถุนายน แต่ที่ผ่านมารายงานของ ClimaMeter ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ติดตามเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ระบุว่าอุณหภูมิในเดลี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่ง “สูงกว่าค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลถึง 5 องศาเซลเซียส”
รายงานของ ClimaMeter ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์” คือสาเหตุของความร้อน “อันตราย” ที่เห็นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
“เมื่อพูดถึงคลื่นความร้อน คำถามที่สำคัญไม่ใช่คลื่นความร้อนมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ แต่เป็น (คำถาม) ว่าเรากำลังเผชิญกับขีดจำกัดใด” Gianmarco Mengaldo ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า “การเตรียมพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ แต่ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานของเรายังไม่พร้อม”
ไม่นานมานี้ ทางการเดลีต้องขอให้โรงเรียนหลายแห่ง ยกเลิกการรวมตัวทำกิจกรรมในช่วงบ่าย และออกแนวทางปฏิบัติฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มช่วงเวลาพักดื่มน้ำ และสำรองเกลือแร่สำหรับการชดเชยน้ำในร่างกายไว้ในชุดปฐมพยาบาล โดยเตรียมความพร้อมรักษาอาการต่างๆ จากความร้อนทันที
ไม่เพียงเท่านั้น สำนักข่าวเอพี (AP) ยังได้เผยแพร่วิถีชีวิตแบบ ‘new normal’ ของ Sapnaben Chunara คุณแม่ลูกสามวัย 30 ปี ที่อาศัยอยู่ในชุมชนคนรายได้ต่ำ ผู้ต้องปรับตัวหลายอย่าง ในวันที่คลื่นความร้อนอันตรายมาถึง
“บางครั้งก็ร้อนมาก จนคิดอะไรไม่ออก” Chunara เล่าว่า ตัวเองใช้เวลาส่วนใหญ่ในพื้นที่กลางแจ้ง เพราะหลังคาสังกะสีของบ้านเธอ ทำให้อุณหภูมิภายในบ้านร้อนกว่าข้างนอกมาก โดยเฉพาะช่วงที่อุณหภูมิข้างนอกสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
ในอีกมุมหนึ่ง ความร้อนยังนำมาซึ่งความชัดเจนของ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างคนจนและคนรวย โดย Chunara เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมของการวิจัยที่พยายามหาคำตอบว่า ความร้อนส่งผลต่อชุมชนเปราะบางทั่วโลกอย่างไร โดยเธอจะต้องสวมใส่สมาร์ทวอทช์ ที่คอยวัดอัตราการเต้นของหัวใจและชีพจร รวมถึงติดตามการนอนหลับ ซึ่งผู้เข้าร่วมฯ จะต้องตรวจความดันโลหิตทุกสัปดาห์
“นี่เป็นข้อกังวลอันยิ่งใหญ่ และยังแสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ความร้อนสร้าง” ระหว่างคนจนและคนร่ำรวยอีกด้วย Abhiyant Tiwari ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศของ Natural Resources Defense Council หนึ่งในผู้วิจัยครั้งนี้กล่าว โดยนอกจากนี้ นักวิจัยยังวัดผลกระทบของความร้อน โดยใช้สมาร์ทวอทช์และอุปกรณ์อื่นๆ ในพื้นที่อื่นๆ เช่น แอฟริกา เกาะนีอูเอในมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลทรายในเม็กซิโก
Tiwari กล่าวถึงแรงจูงใจของงานวิจัยนี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความร้อน กำลังทำลายล้างประชากร และตอนนี้คำถามก็คือ เราจะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้”
อ้างอิงจาก