วันนี้ (6 ตุลาคม 2567) คือวันครบ 48 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หนึ่งในบาดแผลที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลายคนคงทราบดีว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ชีวิตมากกว่า 40 ชีวิตต้องสูญเสีย จนเรียกได้ว่าเป็น ‘การสังหารหมู่’ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง
แต่ทราบกันหรือไม่ว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีผู้สั่งการคนไหนได้รับโทษตามกฎหมายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ‘แม้แต่คนเดียว’ ซ้ำร้าย ทนายด่าง–กฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนักศึกษาในวันนั้น ยังเคยกล่าวปาฐกถาในงานรำลึก 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ว่า “ผ่านมาถึงปัจจุบัน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในเหตุการณ์ ยังไม่ได้รับการขอโทษใด ๆ จากรัฐหรือผู้บงการ”
เป็นไปได้อย่างไร ที่เหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองหลวง ซึ่งแม้จะผ่านมาแล้วหลายสิบปี ก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบ?
หนึ่งในคำตอบอาจเป็น ‘วัฒนธรรมแห่งการลอยนวลพ้นผิด’ (Impunity Culture) ที่ตกค้างอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา สามารถสะท้อนวัฒนธรรมอันผิดเพี้ยนนี้ได้เป็นอย่างดี
สถาบันปรีดี พนมยงค์ ระบุว่าการลอยนวลพ้นผิด (impunity) คือ “ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการหยิบยื่นความรับผิดชอบให้แก่ผู้กระทำความรุนแรง ซึ่งได้กระทำลงในนามของอำนาจรัฐต่อประชาชน” หากย้อนกลับมามองประเทศไทย อาจพบตัวอย่างมากมาย ซึ่งผู้ไร้อำนาจต้องเผชิญกับการทำร้ายเข่นฆ่าอย่างทารุณ แต่กลับ ‘เอาผิดใครไม่ได้’ แม้แต่คนเดียว ด้วยกลไกทางการเมือง กฎหมาย หรือวัฒนธรรมที่คอยเอื้อให้ผู้รับผิดชอบ ‘ลอยนวลพ้นผิด’
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ในวันที่ 16 กันยายน 2521 มีการประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521’ ซึ่งอ้างว่าบังคับใช้เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ที่หลบหนีการจับกุมกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ สามารถกลับมาเรียนและใช้ชีวิตปกติได้
แต่ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็ได้ชำระความผิดให้ผู้ก่อความรุนแรง ทำร้าย และเข่นฆ่านักเรียน นักศึกษา และผู้ชุมนุมด้วย โดย iLaw ระบุว่าเป็นเพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้กำหนดกรอบฐานความผิดในการนิรโทษกรรม พร้อมทั้งยังกำหนดให้จำเลยที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี พ้นความผิดและได้รับการปล่อยตัว ยุติธรรมหรือไม่? คงเป็นคำถามที่เรามีต่างมีคำตอบในใจ
ไม่เพียงแค่เหตุการณ์ 6 ตุลา อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนการลอยนวลพ้นผิดได้ชัดเจน คือเหตุการณ์ตากใบ ที่เกิดการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปีวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตรวม 85 คน จากการสลายการชุมนุม และระหว่างการควบคุมตัวผู้ชุมนุม ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
หลังจากนั้นมีการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ศาล จ.นราธิวาส รับฟ้องและพิจารณาคดี จำเลยรวม 7 คน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศาลฯ ได้ออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้เกี่ยวข้องกับคดีตากใบ ในกรณีหลบหนีและไม่ไปขึ้นศาลฯ โดยโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พล.อ.พิศาลได้ลาการประชุมฯ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ทั้งนี้ พปชร.ได้เรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ติดตามตัว พล.อ.พิศาล เพื่อสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน
เรายังคงต้องติดตามคดีตากใบอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอายุความของคดีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หรือในอีกไม่ถึงเดือนเท่านั้น ซึ่งผลลัพธ์ของคดีตากใบจะเป็นอย่างไร เราในฐานะประชาชนต้องจับตามอง เพื่อไม่ให้การลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นซ้ำในประเทศไทย
อ้างอิงจาก
https://pridi.or.th/th/content/2022/10/1289
https://mgronline.com/politics/detail/9670000094198
https://www.thaipbs.or.th/news/content/344906
#6ตุลา #ตากใบ #การลอยนวลพ้นผิด #TheMATTER