ประวัติศาสตร์ชนชาติใดๆ ย่อมมีเรื่องราวอันเป็นบาดแผลที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนในชนชาตินั้นๆ เสมอ หนึ่งใน ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา ก็คือการใช้ ‘ศาลเตี้ย’ (lynching) หรือประชาชนมาตัดสินโทษกันเอง (หรือจะเรียก ‘ประชาทัณฑ์’ ก็ไม่ผิดนัก) ให้พรากชีวิตจากตัวผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่หลายๆ ครั้งมีมูลเหตุมาจากความแตกต่างทางสีผิว มากกว่าจะไปทำผิดใดจริงๆ จังๆ
มีสถิติว่า เฉพาะปี ค.ศ. 1882 – 1968 มีผู้ถูกศาลเตี้ยตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 4,742 คน เหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นคนผิวสี ถูกลงโทษด้วยการแขวนคอ และเกือบ 99% ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรกับการพรากชีวิตคนโดยพลการนั้นๆ
แม้อดีตไม่อาจแก้ไขได้ แต่การเยียวยาความรู้สึก และการป้องกันปัญหาเดิมๆ ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตยังสามารถทำได้ ส.ว.สหรัฐฯ ผิวสี 3 คน ทั้งจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน นำโดย Kamala Harris ส.ว.รัฐแคลิฟอร์เนีย จึงร่วมกันเสนอร่างกฎหมายความยุติธรรมสำหรับเหยื่อที่ถูกประชาทัณฑ์ (Justice for Victims of Lynching Act of 2018) ให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา โดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้ คือกำหนดให้การประชาทัณฑ์มีโทษอาญา ทั้งปรับและจำคุก ซึ่งโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต
ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา เคยมีการเสนอกฎหมายต่อต้านการรุมประชาทัณฑ์ให้รัฐสภาของสหรัฐฯ พิจารณากว่า 200 ฉบับ แต่ก็ไม่สามารถผ่านออกมาบังคับใช้ได้ด้วยเหตุผลแตกต่างกัน ขณะที่ความยากของการผลักดันร่างกฎหมายฉบับใหม่ก็คือ มันต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ถึง 60 เสียง จากทั้งหมด 100 เสียง แต่ปัจจุบัน ยังมีผู้สนับสนุนเพียง 15-16 เสียงเท่านั้น
“กว่าร้อยปีที่ไม่สามารถผลักดันให้กฎหมายนี้ออกมาใช้บังคับได้ ถึงเวลาแล้วที่จะทำให้การประชาทัณฑ์เป็นอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังระดับชาติ” เนื้อหาส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ระบุ
.
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-44668459
https://www.harris.senate.gov/imo/media/doc/ALB18773.pdf
ที่มาภาพประกอบ
https://www.vox.com/2015/2/10/8012149/lynching-report-nyt-white
#Brief #TheMATTER