ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย ได้คู่ชิงแล้ว ระหว่าง ‘ฝรั่งเศส’-อดีตแชมป์ปี 1998 กับ ‘โครเอเชีย’-ทีมซึ่งหมายมั่นจะสร้างประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมากไกลขนาดนี้มาก่อนเลย และวันที่ 15 ก.ค.นี้ ก็จะได้รู้กันว่า ใครจะครองเจ้าฟุตบอลภพ
แม้บรรยากาศของฟุตบอลโลกครั้งนี้จะดูเงียบเหงาไปสักหน่อย แต่คอบอลที่ติดตามการแข่งขันอยู่บ่อยๆ ก็อาจจะสัมผัสได้ถึงความพิเศษอะไรบางอย่างที่ชวนให้รู้สึกเอ๊ะ เช่น ทำไมเกมที่พลิกล็อกถึงมีมากมายหลายนัดเหลือเกิน? การยิงประตูส่วนใหญ่เหมือนจะเกิดขึ้นจากลูกโต้กลับหรือลูกตั้งเตะนะ? ทำไมการยิงประตูเกิดขึ้นในช่วงทดเวลาบาดเจ็บรัวๆ ล่ะ? การแข่งขันดูเหมือนจะสูสีขึ้นนะ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ไหม?
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว The MATTER แอบไปรวบรวมสถิติการแข่งขันทั้ง 62 นัดที่ผ่านมา จากทั้งหมด 64 นัด (ที่เหลือคือนัดชิงที่สามกับนัดชิงชนะเลิศ) มากางให้ดูว่า ที่เรารู้สึก มันเป็นไปตามนั้นจริงๆ ไหม มีอะไรใหม่ในบอลโลกครั้งนี้ นอกจาก VAR
– ช่องว่างระหว่างทีมเก่ง-ทีมอ่อน ลดลงจริงไหม?
ทีมที่เก่งกว่า ครองบอลมากกว่า ไม่ได้การันตีชัยชนะ โดยจากสถิติพบว่า ทีมที่ครองบอลมากกว่า มีผลการแข่งขันชนะ 28 นัด (45%) แพ้ 21 นัด (34%) และเสมอ 13 นัด (21%) นอกจากนี้ ยังมีเพียง 7 นัดเท่านั้นที่ชนะกันเกิน 2 ประตูขึ้นไป
– ประตูจากการโต้กลับ/ลูกตั้งเตะ มีมากน้อยแค่ไหน?
ฟุตบอลโลกครั้งนี้ ยิงประตูไปแล้ว 161 ลูก เฉลี่ยนัดละ 2.6 ประตู เกิดจากการตั้งเกมขึ้นมายิง 56 ประตู (35%) ฟรีคิก/เตะมุม 42 ประตู (26%) โต้กลับ 32 ประตู (20%) จุดโทษ 20 ประตู (12%) และทำเข้าประตูตัวเอง 11 ประตู (7%)
– ยิงกันช่วงทดเวลาบาดเจ็บรัวๆ จริงไหม?
ถ้าดูช่วงเวลาที่มีการยิงประตู ครึ่งหลัง (78 ประตู 48%) จะมากกว่าครึ่งแรก (58 ประตู 36%) และเฉพาะช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ทั้งครึ่งแรก/ครึ่งหลัง แบบที่เรามักเห็นในสกอร์บอร์ด 45+ 90+ ก็มีการยิงกันถึง 22 ประตู (14%) ส่วนช่วงต่อเวลามีเพียง 3 ประตู (2%)
อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบนี้ มีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ทำนายผล แต่ปรากฎว่า AI ของสารพัดบริษัทต่างทายผลผิดระนาว ไม่ว่าจะ
1.) AI ของวาณิชธนกิจระดับโลก Goldman Sachs ของสหรัฐฯ ที่ทายว่าเยอรมนีจะได้แชมป์โลก หลังคำนวณความเป็นไปได้ 1,000,000 ครั้ง แม้จะปรับผลแล้ว หลังเยอรมนีตกรอบแรก ก็ยังผิด เพราะบอกว่าคู่ชิงจะเป็นบราซิล-อังกฤษ
2.) AI ของธนาคารชื่อดัง UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ทายว่าเยอรมนี สเปน และบราซิล มีโอกาสได้แชมป์มากที่สุด หลังจำลองผลการแข่งขันนับหมื่นนัด
3.) AI ของวาณิชธนกิจ Nomura จากญี่ปุ่น ที่ทายถูกครึ่งหนึ่งเพราะบอกว่าฝรั่งเศส-สเปนจะเข้าชิง
4.) AI ของธนาคาร ING ของเนเธอร์แลนด์ ที่ทายว่าสเปนจะได้แชมป์
ซึ่งความผิดพลาดทั้งหลายไม่ใช่เรื่องแปลก ขึ้นอยู่กับแบบจำลอง ตัวแปร และข้อมูลที่แต่ละบริษัทหยิบมาใช้ โดยปัจจัยบางอย่างก็อยู่เหนือการควบคุม เช่น นักเตะบาดเจ็บ/โดนแบน หรือความสามัคคีภายในทีม เชื่อว่าแต่ละบริษัทคงจะนำบทเรียนครั้งนี้ไปปรับแก้เพื่อให้การทำนายผลมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
.
อ้างอิงจาก
บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ ใช้ระบบ AI ทายแชมป์บอลโลก – ชี้ ‘อังกฤษ’ บู๊ ‘บราซิล’ รอบชิง
https://brandinside.asia/institutional-banks-predicted-world-cup-2018-champions/
https://sertiscorp.com/fifapredict/
ที่มาภาพประกอบ
https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/england-third-place-play-off-14897770
#Brief #TheMATTER