ใครที่เป็นแฟนคลับนายกฯ ลุงตู่ คงรู้กันว่า จุดเด่นของผู้นำที่เรารักคือลีลาและถ้อยคำที่ลุงตู่สื่อสารกับสังคม มีทั้งพูดด้วยอารมณ์ขึงขัง จริงจัง แม้อาจดูดุดันไปบ้าง แต่บางทีก็มีความเป็นกันเองโดยเฉพาะเวลามีโมเมนต์กับเด็กๆ และประชาชนที่มาให้กำลังใจ
ล่าสุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายเรื่องการพูดของตัวเองเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุผลที่ต้องพูดเยอะๆ ก็เพราะอยากให้ทุกคนเข้าใจในเรื่องราวที่สำคัญนะ ถ้าพูดน้อยไปก็อาจจะมีคนฟังไม่จบ หรือฟังเป็นบางตอน
“การที่ผมต้องพูดมาก ต้องอธิบายทุกเรื่อง ก็เพราะอยากให้ทุกคนเข้าใจ การพูดของผมทุกวันศุกร์ มีการถอดเทปมาแล้วว่า พูดไปแล้ว 4 ล้านกว่าคำ ยังไม่นับวันอื่นๆ ทั้งหมดน่าจะประมาณ 10 ล้านคำได้ ที่ต้องพูดเยอะแล้วสั่งเยอะ เพราะอย่างน้อยก็มีคนฟัง แม้จะฟังไม่จบก็มีคนฟังเป็นบางตอน
“ถ้าพูดสั้นๆ ก็คงไม่รู้เรื่องกันเลย เพราะไม่ฟังกันก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมา ผมไม่ใช่นักแสดง ไม่ใช่ดาราที่ทุกคนจะมานั่งจ้องดูการแสดงทุกอย่าง ผมพูดก็เครียดทุกที พูดในความจริงซึ่งทุกคนควรยอมรับว่านี่คือความจริงของประเทศไทย โดยเราต้องซื่อสัตย์ต่อคนและประเทศของเรา” นายกฯ กล่าว
เมื่อเร็วๆ นี้มีการรวบรวม Data ว่าด้วยประเด็นที่นายกฯ พูดในรายการคืนความศุกร์ ซึ่งพบสัดส่วนว่า หัวข้อที่ลุงตู่กล่าวถึงมากที่สุด 22.7 เปอร์เซ็นต์คือเรื่อง ‘จิตสำนัก/ความร่วมมือ’ รองลงมาคือเรื่อง ‘สังคม/กฎหมาย’ ที่12.6 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีงานวิจัยที่วิเคราะห์ถึง ‘นัยยะทางการเมือง’ ที่นายกฯ พูดผ่านรายการคืนความสุขมาด้วยเหมือนกัน โดยในภาพรวมๆ ค้นพบว่า ‘วาทศิลป์’ ของลุงตู่ได้เน้นการแสดงออกซึ่งความปรารถนาดีต่อผู้ฝัง โดยแสดงออกว่าเป็นรัฐบาลที่ห่วงใยประชาชน หวังดีต่อประเทศและสถาบันหลักของชาติ
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า วาทะของนายกฯ ได้โน้มน้าวใจผู้ฟังด้วยหลายวิธี โดยเฉพาะสร้างให้ผู้ฟังเกิดความหวาดกลัว ว่าถ้าไม่ร่วมมือกับ คสช. บ้านเมืองจะต้องกลับไปเผชิญหน้ากับความไม่สงบเรียบร้อย อีกทั้งยังใช้ความรู้สึกชาตินิยมไปเป็นเครื่องมือหลอมรวมประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว
ก็นั่นแหละเนอะ วาทะจากผู้นำของเรา ล้วนมีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองที่สามารถวิเคราะห์และตีความได้มากมายเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก
https://www.dailynews.co.th/politics/654434
https://www.khaosod.co.th/politics/news_1329358
https://thaipublica.org/2018/06/speech-prayuth/
https://thematter.co/pulse/research-for-understanding-genprayuth/41965
#Brief #TheMATTER