เวลาพูดถึงประเทศคิวบา เราจะนึกถึงอะไร? ซิการ์ยี่ห้อดังต่างๆ จากกรุงฮาวานา ภาพชายหนวดครึ้มตามท้ายรถบรรทุก ที่ชื่อเช เกวารา หรือวายร้ายระดับโลกตามที่สื่อของตะวันตกพยายามนำเสนอ?
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนจะคิดถึงเมื่อเอ่ยถึงเกาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ นี้ ก็คือความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ลำดับท้ายๆ ที่ยังเหลืออยู่ในโลกใบนี้ และเมื่อพูดถึง ‘ความเป็นคอมมิวนิสต์’ หลายๆ คนคงนึกโยงไปถึงการที่รัฐเข้ามาจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ให้กับทุกคนอย่างเหมาะสม (ในทางทฤษฎี) ไม่ให้เอกชนได้ครอบครองทรัพย์สินและจัดการกันเอง เพราะนั่นคือทุนนิยม
แต่คิวบากำลังจะเปลี่ยนไป นอกจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากพี่น้องคาสโตร มาสู่มิเกล ดิอาซ กาเนล ยังรวมถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 โดยสื่อของรัฐอย่างหนังสือพิมพ์ Granma ได้เผยว่า หนึ่งในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญใหม่คิวบาที่จะมีเนื้อหา 227 มาตรา เพิ่มขึ้นจากเดิม 137 มาตรา ก็คือการยอมรับสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของเอกชนเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้ยอมรับสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน เฉพาะของรัฐ ชาวนา และบุคคลเท่านั้น)
แต่นักวิเคราะห์ก็ยังมองว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่ว่า รัฐบาลคิวบาจะยอมให้เอกชนเข้ามาบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เพิ่งออกข้อกำหนดต่างๆ ควบคุมการทำธุรกิจของเอกชน ที่บทลงโทษมีตั้งแต่ปรับเงินไปจนถึงยึดมาเป็นของรัฐ
และกว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของคิวบาจะมีผลบังคับใช้จริง ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติ รวมถึงการออกเสียงประชามติ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้
อ้างอิงจาก
https://www.reuters.com/article/us-cuba-politics/communist-run-cuba-to-recognize-private-property-in-new-constitution-idUSKBN1K4108
https://www.bbc.com/news/world-latin-america-44836358
#Brief #TheMATTER