“ทำลายภาพลักษณ์ของชาติ” “สร้างความเสื่อมเสียให้ประเทศ” เป็นหนึ่งในชุดคำอ้างที่ผู้มีอำนาจมักหยิบมาใช้เพื่อกันไม่ให้คนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตัวเอง เช่นเดียวกับที่รัฐสภาอิสราเอลเพิ่งออกกฎหมาย ห้ามกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายและการกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ของทั้งรัฐบาลและทหารอิสราเอล เข้าไปพูดคุยกับนักเรียนในสถาบันการศึกษา
แม้ความจริงเนื้อหาของกฎหมายนี้มีเพียงให้อำนาจ รมว.ศึกษาธิการกันคนบางกลุ่มไม่ให้มาบรรยายในโรงเรียนเท่านั้น แต่ Naftali Bennett รมว.ศึกษาธิการอิสราเอลคนปัจจุบัน จากพรรคการเมืองชาติ-ศาสนานิยม Jewish Home ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เขาจะใช้อำนาจนี้ไม่ให้ “คนที่ร่อนเร่วิจารณ์ทหารของอิสราเอลไปทั่วโลก” ได้เข้าไปคุยกับนักเรียนนักศึกษาอีกต่อไป
“เพราะคนเหล่านี้ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย และยังทำให้เจ้าหน้าที่อยู่ในความเสี่ยง ที่จะถูกดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงคราม” เบนเนตต์ให้เหตุผล
กฎหมายนี้ถูกเรียกด้วยชื่อเล่นว่า Breaking the Silence (ทลายความเงียบ) ตามชื่อกลุ่มการเมืองที่ตามเก็บข้อมูลและเผยแพร่พฤติกรรมที่ทหารอิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาชา (ซึ่งอิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1967) ซึ่งถือเป็นตลกร้ายอย่างหนึ่ง เพราะเนื้อหาของกฎหมายกลับมีไว้เพื่อหยุดการวิจารณ์ ทำให้ ‘ความเงียบ’ ยังคงอยู่ต่อไป
แต่ผู้อำนวยการของบางโรงเรียนก็ยังบอกว่า จะเชิญกลุ่ม Breaking the Silence มาบรรยายให้เด็กๆ ฟังต่อไป แม้จะเป็นเรื่องที่สุ่มเสียงผิดกฎหมายก็ตาม
.
อ้างอิงจาก
https://www.reuters.com/article/us-israel-politics-schools/israeli-lawmakers-vote-to-ban-some-left-wing-groups-from-schools-idUSKBN1K70FF
http://www.breakingthesilence.org.il/
ที่มาภาพประกอบ
https://www.timesofisrael.com/government-advancing-bill-to-ban-breaking-the-silence-report/
#Brief #TheMATTER