กลับบ้านมาเหนื่อยๆๆๆๆ ทำงานแสนหนัก พลังหมดหดหายไปทั้งตัว มาถึงก็ดึกแล้วมื้อเย็นก็ไม่ได้กิน สุดท้ายกว่าจะมีอะไรได้ลงถึงท้องก็โน่นเลยสี่ห้าทุ่ม ก่อนเข้านอนได้เพียงแค่นิดเดียว
หลายครั้งไลฟ์สไตล์กับภาระงานที่มากมาย มันก็บังคับให้เราต้องมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปด้วยเหมือนกันเนอะ อย่างที่รู้กันว่า การกินดึกๆ ก่อนนอนเนี่ยมันอาจทำให้อ้วนขึ้นได้จริง แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ก็พบข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า มัน ‘มีความเป็นไปได้’ ที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมากขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวสเปน และเผยแพร่ผ่าน ‘International Journal of Cancer’ โดยศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่างชาวสเปน 1,800 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนอีกกลุ่มเป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีทั้งหมด 2,000 คน
นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการบริโภค เช่น ช่วงเวลาการกิน การนอน รูปแบบการทำงาน รวมถึงข้อมูลที่บ่งชี้ว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นคนที่ชอบตื่นเช้า หรือ ตื่นสายๆ หรือบ่ายๆ (เพื่อเป็นการวิเคราะห์เรื่องนาฬิการ่างกายของแต่ละคน)
งานวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่าง การกินอาหารก่อน 3 ทุ่ม กับ แนวโน้มการเป็นมะเร็งที่ลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่มีนิสัยชอบกินดึกๆ หลังสี่ทุ่ม รวมถึงเข้านอนทันทีหลังจากกินเสร็จ
ในเวลาเดียวกัน นักวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่กินหลัง 3 ทุ่ม หรือกินก่อนนอนเพียงแค่ 2 ชั่วโมง จะมีสิทธิที่จะเจอความเสี่ยงกับโรคมะเร็งมากขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้มีพฤติกรรมการกินรูปแบบนี้
ทีมวิจัยจาก Institute for Barcelona Institute for Global Health วิเคราะห์ว่า เหตุผลน่าจะมาจากการกินก่อนนอนแบบไม่นานนั้น มันเข้าไปแทรกแซงและสร้างผลกระทบต่อระบบเผาผลาญในร่างกาย รวมถึงระบบทำงานในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
ด้าน Manolis Kogevinas ผู้นำทีมวิจัย ระบุว่า ข้อค้นพบเหล่านี้ ได้ช่วยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาเรื่อง ‘นาฬิกาชีวภาพ’ (circadian rhythms) ในประเด็นที่อาจเกี่ยวพันกับพฤติกรรมการกินและโรคมะเร็ง
แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้กันคือ ข้อมูลสรุปที่ได้มามันก็อาจจะเป็นแค่เรื่องของ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างตัวแปร ทางทีมนักวิจัยก็เลยเชื่อว่า ยังคงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่านี้ว่า อะไรคือสาเหตุและปัจจัยที่ลึกลงไปในข้อค้นพบเหล่านี้
ก่อนหน้านี้ ก็มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ที่ศึกษาถึงเรื่องนาฬิกาชีวภาพของคนเราว่า ถ้ารูปแบบมันเปลี่ยนไปจากปกติ มันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายเราได้หลายมิติด้วยเหมือนกัน
อ้างอิงจาก
https://www.independent.co.uk/news/health/cancer-evening-meal-midnight-snack-prostate-breast-barcelona-a8451046.html
https://www.telegraph.co.uk/science/2018/07/17/eat-least-two-hours-bedtime-lower-risk-breast-prostate-cancer/
https://www.usatoday.com/story/news/nation-now/2018/07/18/early-dinner-time-linked-lower-risk-cancer-says-study/795819002/
https://www.popsci.com/eat-dinner-early-cancer
https://thematter.co/byte/how-to-reset-your-internal-clock/48557
#Brief #TheMATTER