เป็นประเด็น และที่ถกเถียงในหลายประเทศ ถึงผลของ ‘สภาวะโลกร้อน’ ที่ได้เปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในโลกไป ไม่ว่าจะระบบนิเวศของสัตว์ สภาพอากาศ และความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีงานศึกษาอันใหม่ที่พบว่า มหาสมุทรก็จะเปลี่ยนสีไปด้วยเพราะโลกร้อน
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications พบว่า ภาวะโลกร้อน ทำให้สีของมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงไป โดยการเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้เห็นชัดเจนด้วยสายตามนุษย์ แต่จะเห็นผ่านเซ็นเซอร์ออปติกมากกว่า และสีของมันจะไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง แต่การศึกษาใหม่นี้ก็ชี้ว่า นี่เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าภาวะโลกร้อนกำลังเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลกอย่างมีนัยสำคัญ
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้สีฟ้า น้ำเงิน และเขียวของน้ำทะเล มีสีที่เข้มมากขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบจากการสร้างแบบจำลองของโลก ที่จำลองการเติบโตของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร และผลกระทบของสีในมหาสมุทรที่เราเห็น โดยการเปลี่ยนแปลงของสี เป็นผลมาจากแพลงก์ตอนพืชทะเล สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในชั้นแสงแดดของมหาสมุทร ที่ใช้คลอโรฟิลล์เก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานซึ่งสะท้อนสีกลับสู่สภาพแวดล้อม ซึ่งพวกมันจะสะท้อนสีเขียวในมหาสมุทร และสีฟ้าในท้องทะเล
ตั้งแต่ปี 1990 ดาวเทียมได้ตรวจวัดปริมาณคลอโรฟิลล์ในมหาสมุทร และพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงจากสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของอากาศจะทำให้มหาสมุทรครึ่งหนึ่งของทั่วโลกเปลี่ยนสีไปภายในปลายศตวรรษที่ 21 และการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบต่อแพลงก์ตอน ที่ทำหน้าที่ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ และยังเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดของสัตว์อื่นๆ
Stephanie Dutkiewicz นักวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนร่วมการศึกษาวิจัยจาก MIT กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดี เนื่องจากมันจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารอย่างแน่นอน” เพราะการที่แพลงก์ตอนได้รับแสงที่แตกต่างกัน จะทำให้มันอาจะเปลี่ยนประเภทอาหารในห่วงโซ่ “แพลงก์ตอนพืชเป็นพืชทะเลที่เป็นพื้นฐานของอาหาร ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกับมัน จะเป็นอัตรายต่อสายใยอาหารในขนาดที่อาจกระทบต่อหมีขั้วโลก หรือปลาทูน่า หรืออะไรก็ตามที่เราอยากกิน หรืออยากเห็นภาพพวกมันดำรงอยู่ได้” เขากล่าว
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER