ขอเตือนไว้ก่อนว่า ระหว่างอ่านข่าวนี้อย่าจินตนาการตามไปด้วย เดี๋ยวจะร้องอี๋.. หรือกินข้าวไม่ลง แต่เป็นข่าวจากงานวิจัยที่เราเห็นน่าสนใจจริงๆ กับการเก็บของเสียจากชุมชนแล้วนำไปวิเคราะห์ถึงความยากดีมีจนของคนในชุมชนนั้นๆ
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย นำโดยเจค โอเบรียน (Jake O’Brien) และฟิล ชอย (Phil Choi) เริ่มเก็บตัวอย่างของเสียจากโรงบำบัดน้ำเสียทั่วออสเตรเลีย ตั้งแต่การสำมะโนประชากรเมื่อปี ค.ศ.2016 จนได้รับตัวอย่างครอบคลุมหนึ่งในห้าของจำนวนประชากรออสเตรเลีย
แล้วเขาเอาของเสียที่ว่า ซึ่งแน่นอนว่าประกอบด้วยปัสสาวะและอุจจาระ ไปทำอะไรต่อ?
ทั้งคู่นำผลการวิเคราะห์ตัวอย่างที่ได้ไปเทียบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ที่มีอยู่ เพื่อดูว่าชุมชนที่เศรษฐสถานะค่อนข้างดีกับยากจนนั้นมีพฤติกรรมการกิน ไลฟ์สไตล์และสุขภาพที่แตกต่างกันอย่างไร – ผลที่ได้ ชุมชนของคนมีเงินมีแนวโน้มจะกินอาหารที่มีไฟเบอร์ ซิตรัส รวมไปถึงคาเฟอีนมากกว่า ส่วนชุมชนของคนยากคนจน มีแนวโน้มจะพบการใช้ยาเพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยบางชนิดมากกว่า
ว่าแต่รู้แล้วยังไง มีประโยชน์อะไรล่ะ? ความจริงการวิจัยพฤติกรรมของคนจากของเสียจากครัวเรือนไม่ใช่เรื่องใหม่ มีชื่อเรียกว่า ‘Wastewater Epidemiology’ (ระบาดวิทยาน้ำเสีย) ในยุโรปและอเมริกาเหนือใช้กันมาสัก 20 ปีแล้ว เพื่อตรวจดูการใช้สารเสพติด รวมไปตรวจหาสัญญาณการระบาดของโรคบางชนิด
ส่วนสิ่งที่โอเบรียนและชอยทำก็คล้ายๆ กัน คือหวังว่าข้อมูลที่ได้จะช่วยคลี่ insight พฤติกรรมของผู้คน ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนจน-รวย และเป็นอีกแหล่งข้อมูลทำให้รัฐบาลได้ใช้คิดใช้วางแผนนโยบายต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.pnas.org/content/early/2019/10/01/1910242116 (งานวิจัยฉบับเต็ม)
https://qaehs.centre.uq.edu.au/profile/921/phil
https://researchers.uq.edu.au/researcher/16984
#Brief #TheMATTER