มีความพยายามปฏิเสธจากคนในรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับแนวคิดในการสร้าง ‘สะพานจันทร์โอชา’ ไม่เป็นความจริง – เป็น fake news
แต่ข้อมูลที่ออกมาตรงกันจากนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลและทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษก พปชร.) ได้ย้ำเพียงว่า ‘สิ่งที่ไม่จริง’ เกี่ยวกับสะพานจันทร์โอชา ก็มีเพียงสะพานนี้ “นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นคนสั่งให้ตั้งชื่อ”
ที่มาของสะพานจันทร์โอชา เกิดจากสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พปชร. หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เสนอให้กระทรวงคมนาคมสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช กับเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะปัจจุบันมีท่าเรือเชื่อมจากฝั่งไปเกาะสมุยเพียง 2 ท่า
โดยสายัณห์เสนอให้ตั้งชื่อเป็น ‘สะพานจันทร์โอชา’ เพื่อเป็นเกียรติ์แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เช่นเดียวกับสะพานติณสูลานนท์ และสะพานสารสิน ที่ตั้งชื่อตามนามสกุลผู้เป็นนายกฯ เช่นกัน
ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาบอกแล้วว่า หากสร้างสะพานโดยใช้ชื่อนี้จริงอาจขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 184 และ 186 ที่ห้ามใช้สถานะหรือตำแหน่งทำการใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แถมอาจขัดกับมาตรทางจากจริยธรรม ข้อ 7, 8, 9 และ 10
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ให้ข้อมูลผ่านโฆษกรัฐบาลว่าไม่อนุญาตให้นำชื่อหรือนามสกุลตนไปใช้ก่อสร้างสะพานหรือสถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอยากให้ประชาชนจดจำจากผลงานมากกว่าชื่อสถานที่
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/TPchannelFan/videos/596156731208853/ (ระหว่างนาทีที่ 10-15)
https://www.matichon.co.th/politics/news_1896371
https://www.thebangkokinsight.com/274224/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862446
#Brief #TheMATTER