ติดเชื้อแล้วกี่คน? ป้องกันตัวอย่างไร? เป็นแล้วตายไหม? รัฐบาลทำอะไรบ้าง?
สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (novel coronavirus) ระบาด เป็นข่าวตามหน้าสื่อมาอย่างต่อเนื่องนับสัปดาห์ นอกเหนือจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสนี้ ที่มีผู้ติดเชื้อท่ั่วโลกกว่า 4,500 ราย เสียชีวิตไป 106 คนแล้ว – ในขณะที่ผู้ติดเชื้อในไทย ล่าสุด เพิ่มเป็น 14 คน (แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต)
สิ่งที่เราอยากรู้เพิ่มเติมก็คือ แล้วคนไทยติดตามข่าวเกี่ยวกับโรคระบาดใหม่นี้ในแง่มุมไหน ส่งต่อข่าวสารรูปแบบใด หรืออยากรู้อะไรกันเพิ่มบ้าง – เผื่อว่าในฐานะสื่อสารมวลชน จะได้ทำเนื้อหาตอบสนองความอยากรู้ของผู้คนได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น
The MATTER จึงใช้เครื่องมือ Zocial Eye ของไวซ์ไซท์ เพื่อดูว่า คนไทยพูดถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง และนี่คือข้อค้นพบที่น่าสนใจ
1.) ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์’ มีรายงานว่าพบผู้ป่วยคนแรกในเมืองอู่ฮั่นของจีน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562 แต่ข้อความที่คนไทยพูดถึงการระบาดของไวรัสนี้ มาบนปรากฎครั้งแรกบนโลกออนไลน์ไทย ในช่วงค่ำของวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2563 โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งทวีตข้อความว่า “แม่ง ได้ข่าวโรคระบาด เดือนหน้าจะไปจีนแล้ว จะรอดไหมเนี่ย”
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2562 – 27 มกราคม พ.ศ.2563 มีการพูดถึงไวรัสชนิดนี้บนโลกออนไลน์ของไทยอย่างน้อย 9.3 หมื่นข้อความ*
2.) แต่ช่วงนั้น บนโลกออนไลน์ไทยก็มีการพูดถึงการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือที่บางคนเรียกกันว่า ‘ไวรัสอู่ฮั่น’ ไม่มากนัก กระทั่งสถานการณ์ทวีความรุนแรง เมื่อมีรายงานว่าไวรัสนี้ติดจากคนสู่คนได้ และจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนพุ่งขึ้นไปที่ 200 รายแล้ว ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2562
3.) หลังจากนั้น การพูดถึง ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่, ไวรัสอู่ฮั่น’ ในโลกออนไลน์ของไทยก็เพิ่มจากวันละหลักร้อยข้อความ เป็นวันละหลายหมื่นข้อความ
กระทั่งมาพีคสุดในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2562 – หลังมีรายงานว่า มีคนติดเชื้อในไทยเพิ่มเป็น 5 ราย แต่รัฐบาลไทยยังไม่แสดงท่าทีแก้ปัญหานี้อย่างชัดเจน กระทั่งแฮชแท็ก #รัฐบาลเฮงซวย ขึ้นเทรนดิ้งของทวิตเตอร์
4.) คอนเทนต์ที่ถูกแชร์ไปในวงกว้างมากที่สุด คือคลิปอธิบายความเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายใน 5 นาที ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ป้องกันได้ไหม ของ Workpoint News บนเฟซบุ๊กที่มีผู้แชร์ไปมากกว่า 1.2 แสนครั้ง
น่าห่วงแค่ไหน – ป้องกันอย่างไร เข้าใจใน 5 นาที
Posted by Workpoint News on Saturday, 25 January 2020
เช่นเดียวกับ คลิปของเว็บไซต์ไทยรัฐ ที่พยายามหาที่มาของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่าจะมาจากงูที่กินค้างคาวหรือไม่ซึ่งมีผู้แชร์ไปบนเฟซบุ๊กกว่า 6 หมื่นครั้ง
เจาะลึกต้นตอ… "งูกินค้างคาว" ผู้ต้องสงสัยเบอร์หนึ่ง แพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
Posted by Thairath – ไทยรัฐออนไลน์ on Friday, 24 January 2020
ส่วนในโลกทวิตเตอร์ สิ่งที่ถูกรีทวีตมากที่สุดคือเรื่องเล่าของผู้หญิงคนหนึ่งที่นำหน้ากากอนามัยไปมองให้กับยายที่นั่งอยู่บันไดทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS ซึ่งมีผู้รีทวีตกว่า 1.1 แสนครั้ง
https://twitter.com/Coach_Ping/status/1221325233677692928
5.) หากว่ากันในเชิง keyword สิ่งที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยติดตามเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย
– “ติดเชื้อ” 33% = ตัวเลขการติดเชื้อทั่วโลกและในไทย จะติดเชื้อได้อย่างไรบ้าง
– “ป้องกัน” 23% = วิธีการป้องกัน สิ่งที่รัฐบาลชาติต่างๆ ทำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
– “สถานการณ์” 15% = สถานการณ์เกี่ยวกับไวรัสนี้ทั่วโลกและในไทย
– “อาการ” 15% = อาการเมื่อติดโรค
– “รัฐบาลเฮงซวย” 6% = ตำหนิรัฐบาลไทยที่ยังไม่มีมาตรการชัดเจน
นี่คือสิ่งที่คนไทยพูดถึงบนโลกออนไลน์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการติดตามข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทั้งต่อประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน รวมไปถึงภาครัฐ
[ *หมายเหตุ: ข้อจำกัดของการใช้ Zocial Eye คือจะเก็บได้เฉพาะข้อความบนโลกออนไลน์ที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะเท่านั้น รวมถึงการค้นหาข้อความต่างๆ จะทำผ่านการระบุ keyword ของผู้ใช้เอง โดยกรณีนี้ The MATTER ระบุ keyword ไปทั้งสิ้น 19 คำ ]
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #โคโรนาไวรัส #ไวรัสอู่ฮั่น #wisesight #TheMATTER