การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้ทำให้จีนเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ทางด้านการแพทย์มากขึ้น อย่างโดรน หรือ หุ่นยนต์ ที่ถูกนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ หุ่นยนต์ทางไกลที่มีฟังก์ชั่นการสื่อสารผ่านวิดีโอ มอนิเตอร์สุขภาพของป่วย และส่งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ได้ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นในโรงพยาบาลที่อยู่ในเมืองจีน แต่ตอนนี้พวกมันทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางที่ปลอดภัยที่ช่วยต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ธุรกิจผลิตหุ่นยนต์หลายที่ได้ส่งหุ่นยนต์ไปช่วยเหลือโรงพยาบาลที่อยู่ในประเทศจีน อย่างเช่น บริษัท Keenon Robotics ที่ตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ก็ได้ส่งหุ่นยนต์ส่งของในอาคาร ‘little peanut’ จำนวน 16 ตัว ไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ในกรุงหางโจว ซึ่งมีการกักกันนักท่องเที่ยวชาวอู่ฮั่น หรืออย่างบริษัท Siasun Robot & Automation ที่บริจาคหุ่นยนต์การแพทย์ 7 ตัว และหุ่นยนต์จัดทำอาหาร 14 ตัว ไปยังสภากาชาดของเมืองเสิ่นหยาง เพื่อช่วยโรงพยาบาลต่างๆ ต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
นอกจากนี้สื่อท้องถิ่นของจีนยังรายงานว่า มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงพยาบาลที่อยู่ในเมืองต่างๆ ของประเทศจีน เช่น กรุงกวางโจว, มณฑลเจียงซี, เมืองเฉิงตู, กรุงปักกิ่ง, นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองเทียนจิน
Huachuang Securities ธุรกิจให้บริการด้านการเงินในประเทศจีน เผยว่าในอนาคตจีนจะมีหุ่นยนต์มากขึ้น โดยได้ยกข้อมูลทางสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ที่แสดงให้เห็นว่า การผลิตในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ได้โตขึ้น 15.3% เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และในช่วงไตรมาสนี้ทางบริษัทก็ทำนายว่าจะเติบโตในระดับที่คล้ายคลึงกัน
เทรนด์ในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงพยาบาลจีนมากขึ้น เพื่อช่วยในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้จีนบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ คือ การเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่มีการใช้เครื่องจักรมากที่สุดในโลกให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
หันกลับมามองที่ประเทศไทย เราเป็นประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์กันมาก หากอ้างอิงจากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เผยแพร่ในปีค.ศ.2018 ซึ่งระบุว่า
ผู้ประกอบการได้ตื่นตัวเรื่องการนำหุ่นยนต์มาใช้ราว 5 – 10 ปีแล้ว และจำนวนหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมไทยปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 10 ของโลก
แต่งานวิจัยก็กล่าวด้วยว่า ความหนาแน่นของการใช้หุ่นยนต์ในประเทศไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยส่วนหนึ่งมาจากแรงงานยังขาดทักษะการใช้หุ่นยนต์ในการผลิต ซึ่งทำให้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนจากการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน ในช่วงที่ผ่านมา
อ้างอิงจาก
https://interestingengineering.com/china-uses-drones-and-ai-robots-to-fight-the-coronavirus-outbreak
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/Industrial_robots.pdf
#Brief #TheMATTER