จะเป็นอย่างไร ถ้าวาทยกร หรือ conductor ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป? มันน่าจะเป็นภาพที่ทั้งน่าทึ่ง และน่ากลัวในเวลาเดียวกันพอสมควรเลยเนอะ ถ้าวันหนึ่งวาทยกรจะถูกแทนที่ด้วยจักรกล ที่เคลื่อนไหวได้ไม่ต่างจากมนุษย์
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการแสดงดนตรีของวงออร์เคสตราเกิดขึ้นครั้งหนึ่งที่ประเทศ UAE (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) แต่สิ่งที่ทำให้งานนี้มันแปลกและแตกต่างออกไปก็คือ มีการเปลี่ยนวาทยกรจากมนุษย์ เป็นหุ่นยนต์แทน
และเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ได้ทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ยาวนานกว่า 7 นาทีเลยทีเดียว แม้จะเป็นเวลาแค่ช่วงหนึ่ง แต่ภาพบนเวทีก็สร้างความน่าสนใจให้กับผู้ชมได้ไม่น้อย
หุ่นตัวนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘Android Alter 3’ มันมีหน้าตาคล้ายมนุษย์ สามารถโบกมือ หรือสะบัดมือ ในท่วงท่าที่แทบจะไม่ต่างอะไรกับวาทยกรที่เป็นมนุษย์จริงๆ เพียงแต่ว่ามันมาในรูปร่างที่ไม่ได้มีขา หากแต่เป็นหุ่นที่เป็นไซส์ครึ่งตัวและยึดติดกับฐานด้านล่าง
(จริงๆ การใช้หุ่นยนต์เป็นวาทยกรก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนะ เพราะสองสามปีที่ผ่านมาก็มีการแสดงแบบนี้อยู่หลายครั้ง ขณะที่ทีมวิจัยที่อยู่เบื้องหลังก็พัฒนาให้มันมีทักษะที่ทำงานได้เก่งมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ)
เคอิจิโร ชิบุยะ (Keiichiro Shibuya) นักประพันธ์เพลงชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนร่วมกับโปรเจกต์นี้ บอกว่า งานนี้เป็นเหมือนกับภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งบางทีหุ่นแอนดรอยด์มันก็อาจจะดูค่อนข้างน่ากลัว แต่ในบางครั้ง มนุษย์กับหุ่นเหล่านี้ก็น่าจะทำงานร่วมกันได้
ชิบุยะ บอกด้วยว่า ในงานนี้เขารับหน้าที่เป็นผู้ประพันธ์เพลงในภาพรวม และได้ AI รวมถึงหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มเติมรายละเอียด เช่น เทมโปและไดนามิคต่างๆ ในบทเพลง
ทั้งนี้ เขายังยอมรับด้วยว่า เมื่อเห็นหุ่นได้ทำหน้าที่เป็นวาทยกรจริงๆ ตามที่มันถูกใส่โปรแกรมให้แล้ว บางจังหวะ เขาก็เผลอคิดไปว่า มันกำลังเคลื่อนไหวได้อิสระตามเจตจำนงของตัวเอง
“หุ่นยนต์และ AI ที่มีอยู่ในตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบดีนัก ส่วนสิ่งที่ผมกำลังให้ความสนใจอยู่ในตอนนี้ คือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าหากเทคโนโลยีที่ยังไม่สมบูรณ์ได้เข้าไปผสมผสานกับศิลปะ” ชิบุยะ ระบุ
อย่างไรก็ดี ความเห็นจากผู้ชมก็ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งคนที่ประทับใจและตื่นเต้นกับการทำงานของหุ่นยนต์ตัวนี้ ขณะที่บางคนก็เชื่อว่า มนุษย์เรายังทำหน้าที่เป็นวาทยกรได้ดีกว่า
ข่าวนี้น่าจะทำให้เราเห็นถึงภาพของอนาคต ที่มนุษย์กับหุ่นยนต์ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากขึ้น และนอกจากการใช้ประโยชน์ของหุ่นยนต์ในชีวิตประจำวันแล้ว การพัฒนาหุ่นยนต์และเทคโนโลยี ก็กำลังเข้าไปอยู่ในแวดวงศิลปะ และการฟังดนตรีของพวกเราด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
https://www.theatlantic.com/photo/2020/02/photos-robots-work-and-play/606196/
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER