ความสะเทือนใจจากเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วประเทศต่างจับตามอง และตั้งคำถามถึงการทำงานของสื่อมวลชน ทั้งเรื่องของการไลฟ์สด การสัมภาษณ์ผู้สูญเสีย และการให้พื้นที่สื่อกับผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ ประเด็นนี้ไม่ได้ถูกตั้งคำถามแค่กับสื่อในไทยเท่านั้น แต่เหล่าสื่อยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศเอง ก็เคยถูกตั้งคำถามเช่นกัน จนถึงขั้น มีการจัดตั้งแคมเปญให้ลดการมอบพื้นที่สื่อให้กับผู้ก่อเหตุขึ้นด้วย
‘No Notoriety’ คือกลุ่มรณรงค์ในสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้สื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการกราดยิง โดยจำกัดเปิดเผยชื่อของผู้ก่อเหตุแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ให้พื้นที่ในพาดหัว และไม่เปิดเผยรูปของผู้ก่อเหตุ เพื่อไม่ให้เป็นการสนับสนุนให้ผู้ก่อเหตุมีชื่อเสียง ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม โดยกลุ่มผู้ที่สนับสนุนแคมเปญนี้ในทวิตเตอร์ จะใช้ #nonotoriety ในการเรียกร้อง
ในเว็บไซต์ของแคมเปญนี้ ระบุว่า “การแสวงหาความประพฤติไม่ดี และการมีชื่อเสียงในทางลบ เป็นปัจจัยที่รู้กันดีว่าจะกระตุ้นให้เกิดการก่อเหตุสังหารหมู่ และอาชญากรรมแบบลอกเลียนแบบได้ ด้วยความพยายามลดโอกาสที่จะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีกในอนาคต”
“เราขอท้าทายสื่อ เรียกร้องให้สื่อแสดงความรับผิดชอบในการรายงานข่าว เพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ เมื่อรายงานข่าวบุคคลที่ก่อเหตุหรือพยายามก่อเหตุความความรุนแรงต่อฝูงชน ซึ่งจะป้องกันไม่ให้คนที่นิยมความรุนแรงเช่นเดียวกันนี้ มีชื่อเสียงและได้รับความสนใจจากสื่อ ตามที่พวกเขาต้องการ”
ผู้ก่อตั้งแคมเปญนี้ คือ ทอม ทีฟส์ (Tom Teves) ผู้สูญเสียลูกชายวัย 24 ปี ไปในเหตุการณ์กราดยิงที่โรงภาพยนตร์ ในเมืองออโรร่า รัฐโคโรลาโด เมื่อปี ค.ศ.2012 ที่ลูกชายของเขาพยายามปกป้องแฟนสาวด้วยการเอาตัวเข้าเป็นโล่กำบังกระสุน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์กราดยิงนี้ ทอมและคาเรน ทีฟส์ (Caren Teves) ภรรยาของเขา ใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการดูภาพของผู้ก่อเหตุที่ปรากฎให้เห็นตามสื่ออยู่ตลอด แม้ทอมจะพยายามให้สื่อพุ่งประเด็นไปที่ความกล้าหาญของเหยื่อ และเหล่าผู้รอดชีวิตก็ตาม
คาเรน กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา การรายงานข่าวของเหล่าสื่อมวลชนยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปถึงจุดที่คาดหวังเอาไว้ ยังเป็นเพียงก้าวแรกๆ เท่านั้น ถ้าเป็นการยกย่องเหยื่อ เหล่าผู้กล้า และผู้รอดชีวิต ถือว่า สื่อทำได้ดีแล้ว แต่สำนักข่าวก็ยังรายงานเรื่องราวของผู้ก่อเหตุอย่างครอบคลุม จนเกือบจะดูเป็นมอบชื่อเสียงให้เขา
อย่างไรก็ดี คาเรนยังกล่าวถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในการรายงานข่าวของสื่อว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดโศกนาฏกรรม ดูเหมือนว่าสื่อจะทำงานได้ดีขึ้น เพราะพวกเขาเข้าใจดีถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น พวกเขาเข้าใจว่าผู้คนเจ็บปวดเกินกว่าจะบรรยายแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตอกย้ำให้ผู้คนเจ็บปวดยิ่งกว่าเดิม”
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/us-news/2018/jul/07/no-notoriety-media-focus-victims-shooter
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER