เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางครั้งกรมอุตุฯ พยากรณ์อากาศถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง?
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีที่ใช้ในการพยากรณ์อากาศในปัจจุบัน ทำหน้าที่ได้ดีในการพยากรณ์อากาศในภาพรวมเท่านั้น ส่วนการพยากรณ์อากาศในแต่ละพื้นที่ (แบบถนนต่อถนน แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง) อย่างแม่นย่ำนั่น ยังคงเป็นความท้าทายอยู่ ซึ่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ของ สำนักงานอุตุนิยมวิทยา (Met Office) ของสหราชอาณาจักร อาจจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรค์นี้ได้
ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ดังกล่าว จะให้ข้อมูลมากขึ้น, ถี่ขึ้น และจำลองสภาพอากาศได้แม่นย่ำขึ้น ซึ่งการติดตั้งในขั้นแรก มันอาจมีความสามารถในการคำนวณมากกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องเก่าถึง 6 เท่า
นอกจากนี้มันยังสามารถทำนายผลกระทบจากโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทำให้นักวิจัยมีข้อมูลมากขึ้นในการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น รู้ว่าไนโตรเจนมีปฏิกริยากับคาร์บอนในอากาศอย่างไร
ด้าน Met Office เชื่อว่า ทหารและบริษัทด้านพลังงาน ต้องการเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศที่มีประสิทธิภาพ โดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ จะช่วยให้ข้อมูลกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม สามารถตัดสินใจตั้งที่กั้นน้ำท่วมได้ดีขึ้น หรือช่วยให้ โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติสามารถ รักษาความสมดุลของความผันผวนระหว่างลมและพลังงานแสงอาทิตย์
สำหรับการทำงานของ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ คือ มันจะสร้างโมเดลแบบจำลองของสภาพอากาศ ตั้งแต่ลม อุณหภูมิ ไปจนถึง ความดัน ที่มีมีความละเอียดสูง
ซึ่งปกติ เราจะแบ่งโลกออกเป็นตารางสี่เหลี่ยมกริดกว้าง 10 กิโลเมตร เทคโนโลยีที่อังกฤษใช้อยู่ สามารถแบ่งโลกออกเป็นตารางสี่เหลี่ยมกว้าง 1,500 เมตร ส่วนซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่กำลังจะสร้างนี้ สามารถแบ่งโลกออกเป็นตารางสี่เหลี่ยมกริดกว้าง 100 เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นย่ำในการพยากรณ์อากาศบนน่านฟ้าของสนามบินขนาดใหญ่
โครงการซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ของ Met Office มีมูลค่าราว 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท) โดยจะเริ่มมีการนำมาใช้ในปี ค.ศ.2022 ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของหน่วยงานในรอบหลายร้อยปี และหากเทียบกับงบประมาณที่กรมอุตุฯ ของประเทศไทยจะได้รับในปี พ.ศ.2563 การลงทุนดังกล่าวของสหราชอาณาจักร ถือเป็นการลงทุนด้านการพยากรณ์อากาศที่มีมูลค่าสูงมาก
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/science-environment-51504002
https://www.thansettakij.com/content/411417
#Brief #TheMATTER