ปะการังเป็นสื่งมีชีวิตที่มีบทบาทเป็นที่อยู่และแหล่งอาหาร ของสัตว์น้ำหลายชนิด ซึ่งหากมันสูญพันธ์ก็จะกระทบต่อชีวิตของสัตวน้ำ และชีวิตของเราด้วย ซึ่งงานวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในงาน Ocean Science Meeting 2020 ที่จัดขึ้นใน เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็อาจทำให้เราต้องคิดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น
เรเน่ เซทเตอร์ (Renee Setter) นักชีวภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวายในมาโนอา และทีม ได้ทำการจำลองสภาพแวดล้อมของมหาสมุทรที่มีปะการังอยู่ โดยอิงจากการคำนวณอุณหภูมิ ณ พื้นผิวของทะเล, ความเป็นกรดของมหาสมุทร, คลื่นพลังงาน, มลพิษ และวิธีการจับปลาของมนุษย์
พวกเขาพบว่า ในปี ค.ศ.2100 จะมีที่อยู่อาศัยของปะการังหลงเหลืออยู่น้อยมาก เรียกได้ว่าแทบไม่เหลืออยู่เลย โดยพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนการมีชีวิตอยู่ของปะการังในช่วงท้ายศตวรรษได้ คือ พื้นที่ส่วนเล็กๆ ของรัฐบาฮากาลิฟอร์เนีย ในเม็กซิโก และทะเลแดง
งานวิจัยเผยว่า ปะการังมีความอ่อนไหวมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ผสมกับน้ำทะเล ปฏิริยาเคมีที่เกิดขึ้นก็ทำให้น้ำมีความเป็นกรดมากขึ้น นอกจากนี้ความร้อนในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิที่พื้นผิวโลกและมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังเช่นกัน
เซทเตอร์ เผยว่า ความพยายามในการทำความสะอาดชายหาด เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม และความพยายามในการต่อสู้กับมลพิษเป็นเรื่องที่วิเศษ พร้อมเรียกร้องให้เราพยายามทำสิ่งเหล่านี้กันต่อไป
“แต่เมื่อไตร่ตรองทุกอย่างแล้ว การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่เราควรรณรงค์จริงๆ เพื่อปกป้องปะการัง และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นความเครียดที่ผสมกัน”
ผลรวมของอุณหภูมิทะเลที่สูงขึ้น และความเป็นกรดของมหาสมุทร ได้คุกคามปะการังทั่วโลก ทำเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า ‘ปะการังฟอกขาว’ อันเกิดจากการตอบสนองของปะการังต่อความผิดปกติทางสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง หรือ ความเป็นกรดของมหาสมุทรที่มากขึ้น เมื่อมันเกิดความเครียด ปะการังจะขับสาหร่ายที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงออกมา ทำให้มันกลายเปลี่ยนเป็นสีขาว และมีความอ่อนไหวต่อโรคต่างๆ มากขึ้น
ข้อมูลจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) เผยว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 – 2017 ปะการังทั่วโลกกว่า 75% ได้ประสบกับภาวะความร้อนสูง จนทำให้เกิดการฟอกขาว
และไม่ใช่แค่จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปะการังยังถูกคุกคามจากการจับปลาอย่างผิดกฎหมาย, โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง และมลภาวะอีกด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.sciencedaily.com/releases/2020/02/200218124358.htm
https://ngthai.com/science/26012/coral-bleaching/
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน
#Brief #TheMATTER