วานนี้ (5 มี.ค.) ธนาคารโลกเปิดรายงานเกี่ยวกับอัตราความยากจนของคนไทย มีข้อมูลน่าสนใจก็คือในยุคที่ คสช.ปกครองประเทศตลอด 5 ปี มีถึง 2 ปีที่อัตราความยากจน พูดง่ายๆ ก็คือจำนวน ‘คนจน’ เพิ่มขึ้น ทั้งที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบดูแลกระทรวงเศรษฐกิจเคยประกาศจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศ
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมคนจนในไทยถึงเพิ่มขึ้น?
#เราใช้เกณฑ์อะไรวัดความจน
ธนาคารโลกอ้างอิงเส้นความยากจนตามเกณฑ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘สภาพัฒน์’ ซึ่งกำหนดไว้ว่าหมายถึงรายจ่ายที่ปัจเจกบุคคลใช้ในการซื้ออาหารและสินค้าที่จำเป็น (แปลว่าต้องหารายได้ให้ไม่น้อยไปกว่านี้ถึงจะพออยู่ได้) ราวเดือนละ 2,700 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 90 บาท
ทั้งนี้ เส้นความยากจนจะปรับขึ้นเกือบทุกปี ดังเช่นเมื่อปี พ.ศ.2531 ยังอยู่ที่ 879 บาทต่อเดือน นับแต่ปี พ.ศ.2535 ขึ้นเป็นมากกว่าพันบาทต่อเดือน นับแต่ปี พ.ศ.2550 ขึ้นเป็นมากกว่าสองพันบาทต่อเดือน
ขณะที่ช่วงระหว่างปี 2557-2561 เส้นความยากจนจะอยู่ที่ 2,647 บาท 2,644 บาท 2,667 บาท 2,686 บาท และ 2,710 บาท ตามลำดับ
– ดูข้อมูลเส้นความยากจนของไทย ได้ที่: http://social.nesdc.go.th/SocialStat/StatReport_Final.aspx
#ไทยมีคนจนมากน้อยแค่ไหน
ธนาคารโลก ระบุว่า คนไทยที่อยู่ในอัตราความยากจนระหว่างปี พ.ศ.2558 – 2561 เพิ่มจาก 7.2% เป็น 9.8% หากคิดเป็นจำนวนก็เพิ่มจาก 4.85 ล้านคน เป็น 6.7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว 1.85 ล้านคน โดยมีถึง 61 จังหวัดจากทั้งหมด 77 จังหวัดที่มีคนจนเพิ่มขึ้น
แยกเป็นภาค ภาคกลางและภาคอีสานมีคนจนเพิ่มขึ้นครึ่งล้านคน เช่นเดียวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีคนจนเพิ่มขึ้นสูงมาก
#ทำไมคนจนไทยเพิ่มขึ้น
รายงานของธนาคารพยายามให้คำอธิบายว่า เพราะประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค โดยโตแค่ 2.7% ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนลดลงและการบริโภคหยุดชะงัก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหดตัว
ไม่รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ที่เป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดอยู่แล้ว
#แนวโน้มความจนในไทย
ธนาคารโลกได้อ้างอิงถึงข้อมูลที่สภาพัฒน์เริ่มเก็บข้อความเกี่ยวกับความยากจนในไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ภาพรวมความยากจนในไทยลดลง จากเคยสูงถึง 65% ลดเป็นเหลือไม่ถึง 10% ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม อัตราความยากจนของไทยก็เพิ่มขึ้นถึง 5 ครั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2541 และ 2543 ในปี พ.ศ.2551 และล่าสุด ในปี พ.ศ.2558 และ 2561
รายงานของธนาคารโลกยังทิ้งท้ายด้วยว่า แม้คนไทยจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น การเข้าเรียนของเด็กปฐมวัย มีน้ำและไฟฟ้าใช้ แต่การกระจายรายได้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะความมั่งคั่งไม่ได้ถูกกระจายไปยังคนที่จนที่สุดในประเทศ 40% อย่างเพียงพอ
.
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: http://pubdocs.worldbank.org/en/149501583303319716/WB-Poverty-Report-Thailand-2020-Low-res.pdf
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
[ หมายเหตุ: มีการแก้ไขข้อมูลบางส่วน เรื่องนิยามของเส้นความยากจน และที่มาของข้อมูลที่ธนาคารโลกอ้างอิงจากที่สภาพัฒน์จัดทำมาอีกที ]
#Brief #TheMATTER