ต่อเนื่องข่าวเดี่ยวของเราเอง จากที่รายงานไปสัปดาห์ก่อนว่า ศาลปกครองกลางรับฟ้องกรณี ป.ป.ช.ส่งเอกสารคดีนาฬิกายืมเพื่อนให้ The MATTER ไม่ครบถ้วน บางส่วนเป็นกระดาษเปล่า ทั้งๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ บอกว่าเรามีสิทธิจะได้รับข้อมูลทั้งหมดที่ยื่นขอไป (คดีหมายเลขดำที่ อ.2557/2562)
สิ่งที่หลายคนถามต่อมาก็คือ พอเป็นคดีขั้นโรงขึ้นศาลแล้ว เรามีโอกาสชนะมากน้อยแค่ไหน?
จากการสืบค้นในฐานะข้อมูลของศาลปกครอง พบว่าคดีฟ้อง ป.ป.ช.ไม่เปิดข้อมูล ที่ไปถึงขั้นสุดท้ายจริงๆ คือศาลปกครองสูงสุด มีเพียง 3 คดีเท่านั้น และผลคือ – ป.ป.ช.ชนะ 2 คดี กับผู้ฟ้องชนะ 1 คดี !
(เร็วๆ นี้ ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินอีกคดี ซึ่งแนวโน้มคือผู้ฟ้องน่าจะชนะ ป.ป.ช.)
จุดร่วมของคดีที่แพ้ทั้ง 2 คดี ก็คือ เป็นการขอข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของพยานและคำให้การของพยาน ซึ่งข้อมูลที่ The MATTER ขอกรณีคดีนาฬิกายืมเพื่อน ไม่ได้รายการใดที่เกี่ยวข้องกับพยานเลย เว้นแต่คำให้การของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม:
– http://admincourt.go.th/admincourt/upload/admcase/Document/judgement/PDF/2558/01012-580971-1F-610816-0000626415.pdf
– http://admincourt.go.th/admincourt/upload/admcase/Document/judgement/PDF/2557/01012-570199-1F-600920-0000606514.pdf
สำหรับคดีที่ชนะ เป็นกรณีที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลนั้น แต่กลับไม่ให้พยานหลักฐานตามที่คนนั้นๆ ร้องขอ สุดท้ายศาลจึงสั่งให้ต้องเปิดเผยข้อมูลภายในหกสิบวัน พร้อมระบุว่าการไม่เปิดเผยข้อมูลเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ซึ่งกรณีนี้จะต่างจากที่เราขอไปอยู่นิดหน่อย คือเราไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา เป็นเพียงประชาชนธรรมดาที่คาใจผลการทำงานของ ป.ป.ช.เท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม:
– http://admincourt.go.th/admincourt/upload/admcase/Document/judgement/PDF/2555/01012-550484-1F-590511-0000573292.pdf
แม้ผลของคดี จะมีทั้งผู้ฟ้องขอข้อมูลชนะบ้างแพ้บ้าง แต่สิ่งที่ศาลปกครองวางบรรทัดฐานไว้ ก็คือ
1.) แม้ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระ แต่ถูกฟ้องในศาลปกครองได้ เพราะคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลถือเป็นคำสั่งทางปกครอง
2.) ข้ออ้างที่ว่าหาก ป.ป.ช.เปิดข้อมูลเกี่ยวกับคดี จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ ศาลไม่เชื่อเสมอไป
3.) คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลมีผลผูกพันทุกองค์กร
สำหรับระยะเวลาเฉลี่ยหลังจากรับฟ้องไปจนถึงมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้ง 3 คดีใช้เวลาใกล้เคียงกัน คือ เฉลี่ย 3-4 ปี
นั่นแปลว่า กว่าคดีขอข้อมูลนาฬิกายืมเพื่อนนี้จะถึงที่สุด ก็น่าจะราวๆ ปี พ.ศ.2566 ซึ่งถึงตอนนั้น พล.อ.ประวิตรจะมีอายุ 77 ปี ไม่รู้จะมีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหรือเปล่า เลขาฯ ป.ป.ช.คนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ส่วนกรรมการ ป.ป.ช.บางคนก็จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเช่นกัน
แค่อยากรู้ข้อเท็จจริง ทำไมมันต้องใช้พลังงานและเวลาขนาดนี้!
#Brief #TheMATTER