องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 เป็น ‘ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก’ (Pandemic) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ปฏิเสธที่จะใช้คำนี้ในการอธิบายสถานการณ์การระบาด
โดย WHO ระบุว่า ภาวะการระบาดใหญ่ หรือ Pandemic ไม่ใช่คำที่ใช้กับเรื่องเล็กๆ หรือใช้อย่างประมาท ทั้งเป็นคำที่หากใช้ในทางที่ผิด อาจทำให้เกิดความหวาดกลัวอย่างไม่มีสาเหตุ หรือการยอมรับที่ไม่ยุติธรรม ว่าการต่อสู้นั้นสิ้นสุดลง และนำไปสู่ความทุกข์ทรมาน หรือความตายที่ไม่จำเป็น ทั้งการอธิบายสถานการณ์ว่า เป็นภาวะระบาดใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ WHO กำลังดำเนินการ หรือสิ่งที่แต่ละประเทศควรทำ เพื่อต่อสู้กับโรคนี้ด้วย
“วิกฤตนี้ ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน” นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าวในการแถลง ทั้งระบุว่า นี่เป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งถ้าหากดูที่จำนวนรายงานผู้ป่วย และประเทศที่ได้รับผลกระทบในตอนนี้ อาจจะไม่สามารถบอกถึงสถานการณ์ทั้งหมดของการระบาด ทั้งทุกประเทศยังสามารถกลายเป็นเส้นทางการระบาดใหญ่ และทุกประเทศ ทุกภาคส่วนสามารถช่วยกันป้องกันการส่งต่อของไวรัส ผ่านชุมชน และผู้คนต่างๆ
ซึ่งสำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น จำนวนผู้ป่วยทั่วโลก ได้ทะลุหลักแสนแล้ว โดยอัพเดทล่าสุด (วันที่ 11 มีนาคม เวลา 21.33 น.) มี 114 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดอยู่ที่ 121,564 ราย เสียชีวิตแล้ว 4,373 ราย และรักษาหายแล้ว 66,239 ราย ในขณะที่ จีน ประเทศต้นทางของโรค พบผู้ติดเชื้อน้อยลง แต่ประเทศในยุโรปอย่างอิตาลี ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกิน 10,000 รายแล้ว
ในขณะที่ประเทศไทย ล่าสุดมีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 6 ราย ทำให้มีจำนวนรวมผู้ติดเชื้อ 59 ราย รักษาหายแล้ว 34 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 24 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
โดยครั้งสุดท้ายที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่า มีการระบาดใหญ่ คือในช่วงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 ในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งในตอนนั้น เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโลกได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้
อ้างอิงจาก
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน
#Brief #TheMATTER