พอพูดถึงไดโนเสาร์ หลายคนอาจนึกถึงสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ๆ เช่น อะแพทโทซอรัส หรือ ไทแรนโนซอรัส แต่ไดโนเสาร์แท้จริงแล้วมีหลายขนาด เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ศีรษะของมันมีขนาดเท่ากับเล็บนิ้วโป้งเท่านั้น
หัวกระโหลกศีรษะของไดโนเสาร์ที่มีรูปร่างคล้ายนก ได้ถูกค้นพบในอำพันที่มีอายุกว่า 99 ล้านปี โดยมันเป็นนกและไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน และมีขนาดเล็กกว่าขนาดของนกฮัมมิงเบิร์ดที่เล็กที่สุดที่มีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้
การค้นพบนี้เป็นที่รับรู้จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature โดย จิงไม โอ คอนเนอร์ (Jingmai O’Connor) ผู้นำทีมวิจัย และ ลิด้า ซิง (Lida Xing) นักวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์ กับทีม ร่วมกันศึกษาอำพันที่ได้รับมาในช่วงปี ค.ศ.2016 จากเหมืองที่อยู่ในทางตอนเหนือของประเทศพม่า และพวกเขาได้ค้นพบกะโหลกศีรษของไดโนเสาร์ที่มีขนาดเพียง 14.25 มิลลิเมตร (วัดจากจงอยปากของมันไปยังส่วนท้ายของกะโหลก) อยู่ภายในอำพันชิ้นนั้น
“พวกเราสามารถแสดงให้เห็นว่า กระโหลกอันนี้มีขนาดเล็กกว่ากะโหลกของนกฮัมมิงเบิร์ดผึ้ง เป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดเล็กที่สุด และนกที่มีขนาดเล็กที่สุดเช่นกัน” โอ คอนเนอร์ กล่าว
หากดูจากสรีระของมัน ไดโนเสาร์ตัวนี้มีลักษณะเหมือนเป็นผู้ล่ามากกว่าผู้ถูกล่า ศีรษะของมันมีขนาดเล็กเท่าเล็บนิ้วโป้ง ฟันของมันแหลมคม ตาของมันนูนเหมือนสัตว์เลื้อยคลานพวกจิ้งจกหรือตุ๊กแก
ทีมวิจัยได้ตั้งชื่อให้มันว่า ‘Oculudentavis khaungraae’ ที่มาจากคำภาษาละตินที่แปลว่า ตา ฟัน และนก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การค้นพบที่โดดเด่นจำนวนมากเกี่ยวกับไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มักมีที่มาจากฟอสซิลอำพันที่มาจากเหมืองในประเทศพม่า
แต่นักวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์บางกลุ่มได้ปฏิเสธที่จะพูดถึงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในงานวิจัยล่าสุด เพราะกังวลในเรื่องของทหารพม่า, มาตรการดูแลชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาของประเทศ และความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐที่เป็นแหล่งขุดอำพัน
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2020/03/11/science/smallest-dinosaur-amber.htm
https://edition.cnn.com/2020/03/11/world/dinosaur-bird-head-skull-amber-scn/index.html
#Brief #TheMATTER