สถานการณ์ของ COVID-19 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนกำลังจับตามอง โดยสรุปการแถลงสถานการณ์โควิด-19 (16 มี.ค.) จาก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า สถานการณ์ในประเทศไทย อยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่เข้าระยะที่ 3 โดยใช้เกณฑ์ที่ตั้งขึ้นเอง เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานในประเทศไทย
และจะถือว่าเข้าสู่ระยะที่ 3 ก็ต่อเมื่อ มีคนไทยรับเชื้อ หรือติดเชื้อ โดยสืบแล้วว่าไม่ใช่การรับเชื้อจากคนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่เชื้อ ทั้งจะต้องมีการติดต่อแพร่เชื้อในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก และหลากหลายพื้นที่ ซึ่งเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนั้น ก็ต้องใช้วิธีการรับมืออีกแบบหนึ่ง
โดยมี ข้อสรุป เพื่อเตรียมการรับมือกับระยะที่ 3 ดังนี้
ด้านสาธารณสุข รายงานว่า ได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว โดย
– เตรียมโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น สถานพยาบาล โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทหาร และตำรวจ ให้มีเตียงใช้เพียงพอเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะมาถึง
– เตรียมติดต่อแพทย์อาชีพ ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษียณอายุแล้ว พยาบาล จิตอาสา อาสาสมัครที่มีความรู้การแพทย์ เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต และจำเป็นต้องขอความร่วมมือ
– เตรียมยาให้พร้อม สำหรับผู้ป่วยในแต่ละกรณี
– อนุมัติค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกรณีพิเศษ
ด้านเวชภัณฑ์: กำลังเร่งกำลังการผลิตหน้ากากอนามัย จนเกือบถึง 2 ล้านชิ้นแล้ว ซึ่งกระทรวงต่างประเทศแจ้งว่า ประเทศอื่นๆ เตรียมพร้อมช่วยเหลือหน้ากากอนามัยแล้ว ขณะเดียวกัน ก็จะเร่งผลิตเจลล้างมือให้เพียงพอกับความต้องการ
อีกทั้ง ในเวลาที่ผ่านมา ได้ตรวจจับการสั่งซื้อ-ขาย หน้ากากอนามัยออนไลน์ โดยกรมศุลกากร ได้จับยึดมาอีกเป็นจำนวนมาก โดยของกลางเหล่านี้ มีจำนวนเป็นล้านชิ้น แล้วจะนำมาใช้กับศูนย์โควิด แต่ก็ยังมีการดำเนินคดีต่ออยู่ดี โดยยืนยันว่าจะไม่ให้เสียรูปคดี
ด้านข้อมูลข่าวสาร: ในแต่ละวันจะมีประชาชนประมาณ 1,000 ราย โทรเข้ามาปรับทุกข์ ปรึกษา ฟ้อง ร้องเรียน ที่ศูนย์ข้อมูล COVID-19 โดยมีเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งข้อสงสัยส่วนมาก ได้มอบประเด็นต่างๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
ด้านการต่างประเทศ: มีประเทศที่พร้อมจะช่วยเหลือทางด้านยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ขณะเดียวกัน ก็จะเร่งการผลิตในประเทศเองด้วยเช่นกัน ส่วนที่มีการยกเลิกวีซ่า VOA ก็ขอยืนยันว่า ทุกประเทศเข้าใจได้ และไม่ขัดข้อง
ขณะเดียวกัน นายกฯ ก็อยากให้มีมาตรการกับคนไทยในต่างประเทศ เช่น ข้าราชการสถานทูตไทยในต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,500 คน กลุ่มนักเรียนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศอีกจำนวนมาก และพระภิกษุอีกประมาณ 1,500 รูป รวมถึง แรงงานไทยในต่างประเทศอีกหลายคน โดยจะจัดตั้ง ‘ทีมไทยแลนด์’ ในแต่ละประเทศ โดยมีเอกอัคราชทูตในแต่ประเทศเป็นหัวหน้างาน และจะให้แต่ละประเทศ รายงานสถานการณ์กลับเข้าที่ไทยมาด้วย
ด้านมาตรการป้องกัน: เพื่อรับมือคนที่ยังไม่ติดเชื้อ โดยตอนนี้ มีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น หากมีผู้ที่มาจากประเทศ หรือพื้นที่ที่ประกาศว่าเป็น เขตติดโรค ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ฮ่องกง มาเก๊าตอนนี้ มีมารตการสูงสุดอยู่แล้ว
ส่วนในกรณีของประเทศอื่นๆ ยังไม่ประกาศเป็นประเทศติดโรคเพิ่มเติม จะขอประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน แต่ก็จะมีมาตรการที่เข้มงวดกวดขันกับผู้ที่มาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึง การได้มาซึ่งตั๋วโดยสาร จะต้องมีการจัดหาใบตรวจโรคจาแพทย์ โดยมีอายุไม่เกิน 3 วัน และมีประกันสุขภาพ รวมถึง ยินยอมให้ทางการติดตั้งระบบติดตามทางโทรศัพท์
ส่วนประเด็นเรื่องเทศกาลสงกรานต์ คณะกรรมการมองว่า จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งในระหว่างการเดินทาง การเฉลิมฉลอง และการแพร่กระจายเชื้อข้ามพื้นที่ จึงมีมติให้เสนองดวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ โดยไม่เป็นวันหยุดราชการ และไม่เป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน แต่จะชดเชยวันหยุด และสิทธิของผู้ใช้แรงงานในโอกาสอื่นต่อไปของปีนี้ เมื่อสถาการณ์เบาบางลง และจะประกาศให้เตรียมการก่อนล่วงหน้า
นอกจากนี้ ยังให้ระงับการเปิดสถานที่บางอย่าง โดยสถานที่ที่มีคนไปเป็นจำนวนมาก และมีกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น มีการชุมนุมกันเป็นกิจวัตร มีการพูดจาปราศรัย มีกิจกรรมให้ทำ มีผู้คนอยู่อย่างแออัด และมีการตะโกนกู่ร้องกัน เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน สนามมวย โรงมหรสพ สนามกีฬาบางประเภท เป็นต้น
อีกทั้ง จะเสนอให้หยุดหรือปิดกิจการนั้นๆ ก่อนเป็นการชั่วคราว ส่วนสถานที่อื่นๆ ก็ควรมีมาตรการรองรับ เช่น มีเจลล้างมือ มีการตรวจอุณหภูมิ โดยจะมีการตรวจเช็กว่า ปฏิบัติตามหรือไม่ หากไม่ก็จะพิจารณาปิดสถานที่นั้นๆ เป็นกรณีไป
#Brief #TheMATTER