สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก ทำให้ตอนนี้ ชาวไทยที่ยังอาศัยอยู่ในต่างประเทศ เริ่มตัดสินใจที่จะเดินทางกลับมายังประเทศไทย แต่ด้วยสถานการณ์ที่ในไทยเอง ก็พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทำให้มีการออกมาตรการคัดกรองที่คุมเข้ม และขอเอกสารจากผู้เดินทางกลับมากมายด้วย
สำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตรายกรณีเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง ในวันที่ 18 มีนาคม โดยประกาศนั้นระบุว่า หากเดินทางมาจากพื้นที่ที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย หรือพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง ตามประกาศกรมควบคุมโรค ต้องยื่นเอกสาร
โดยกรณีที่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ในช่วงที่ Check-in ที่สนามบินนั้น ต้องยื่นตรวจสอบใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate) และต้องตรวจสอบหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้
ซึ่งหากไม่มีเอกสารทั้ง 2 ชุดนี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ผู้ดำเนินการทางอากาศปฏิเสธการขึ้นเครื่อง และงดการออก Boarding Pass ด้วย โดยหลังจากมีมาตการเช่นนี้ออกมาแล้ว คนไทยในต่างประเทศเองหลายคนได้ออกมา พูดถึงผลกระทบที่ได้รับจากมาตรการนี้
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chachanondh Limthong ได้โพสต์ถึงมาตรการนี้ว่า ขอให้มีการทบทวนใหม่ หรือผ่อนผันบางประการ “เนื่องจากระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร การขอใบรับรองแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าจะนัดหมอได้ต้องใช้เวลานานมาก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้แล้วด้วย ขณะที่บางประเทศก็ไม่มีนโยบายออกใบรับรองแพทย์ให้กับผู้ที่ไม่มีอาการ ต้องเป็นเคสที่ป่วยแล้วเท่านั้น”
“เพราะฉะนั้น จึงเป็นการยากมากเลยครับที่จะจัดการทุกเรื่องให้ทันวันเสาร์นี้ ขณะนี้มีประชาชนคนไทย โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาชาวไทยที่ทางมหาวิทยาลัยขอให้ออกจากหอพักและเดินทางกลับบ้าน ทำให้ไม่มีที่พัก ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากครับ”
ขณะที่ นักศึกษาปริญญาโท ในเมืองลิเวอร์พูล ซึ่งมีแผนกำลังจะกลับประเทศไทยในสุดสัปดาห์นี้ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องเดินทางข้ามเมือง ไปขอเอกสาร ได้เล่าให้เราฟังว่า
“ไม่เห็นด้วยกับการขอเอกสาร เพราะตัวประกาศออกมากระทันหันเกินไป การประกาศ (ฉบับแรก) ออกมาในช่วงเย็นของวันที่ 18 มีนา (ตามเวลาอังกฤษ) และเริ่มบังคับใช้กับผู้ที่เดินทางเข้าไทยในวันที่ 21 มีนาเป็นต้นไป เป็นเรื่องลำบาก และกระชั้นชิดมากๆ ในการเตรียมเอกสารภายในเวลา 48 ชั่วโมง ถ้าต้องการประกาศออกมาใช้จริงๆ ควรให้ประชาชนรับรู้ล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งอาทิตย์เป็นอย่างต่ำ”
“ประเด็นที่สอง การขอใบรับรองแพทย์ในต่างประเทศ (โดยเฉพาะอังกฤษ) เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในช่วงเวลานี้ เพราะรัฐบาลอังกฤษออกมาตรการให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าถึง GP (General Practice) ให้ได้มากที่สุด ทั้งช่วงเวลาปกติ การนัดพบแพทย์ก็ลำบากมากแล้ว ต้องทำการจองล่วงหน้า 1-2 อาทิตย์ และหลายครั้ง คนที่เราพบก็ไม่ใช่หมอ แต่เป็นแค่พยาบาล และถ้าต้องการพบหมอจริงๆ ก็จะต้องไปหาคลินิกเอกชนแทน ซึ่งราคาสูงมาก และไม่ได้มีทุกเมือง”
“เรื่องที่สาม เรามองว่า การออกประกาศในลักษณะนี้ มันสะท้อนได้ว่า รัฐบาลกำลังละเมิดสิทธิพลเมืองของชาวไทยมากๆ มันคือการผลักภาระให้พลเมืองของตนเองต้องดื้นรนเพื่อที่จะเดินทางกลับบ้านเกิดตัวเอง แถมยังเป็นการผลักภาระให้หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐอื่นมาดูแลพลเมืองไทย (ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ รัฐบาลก็ควรต้องดูแลพลเมืองของตัวเองก่อน) ซึ่งมันแย่มากๆ แสดงให้เห็นการขาดความสื่อสารในหน่วยงานราชการไทย และความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการสื่อสารกับประชาชน”
เธอยังเล่าอีกว่า “ปัญหาที่เจอภายในสองวันที่ผ่านมาคือ ตัวประกาศออกมาไม่ชัดเจนและไม่คำนึงถึงการปฏิบัติจริง มันสร้างความสับสนและเครียดมากๆ จนวันพฤหัสก็มีการประกาศว่าจะมีแพทย์ไทยอาสามาอำนวยความสะดวกให้ที่สถานทูต ก็เลยตัดสินใจเดินทางจากลิเวอร์พูลเข้าลอนดอนเลยทันที ซึ่งมันมีค่าใช้จ่าย และใช้เวลาในการเดินทางมากๆ แต่มันเลือกไม่ได้
ซึ่งตลอดวันที่ผ่านมา ได้มีการแชร์ภาพคนไทยจำนวนมาก ยืนรอหน้าบริเวณสถานทูตในกรุงลอนดอน เพื่อขอเข้ารับเอกสาร ซึ่งเธอก็ได้เล่าสถานการณ์ที่นั่นว่า “พอไปถึงก็เข้าใจได้ว่ามันมีความวุ่นวายมากๆ แต่ก็เข้าได้ว่าสถานทูตก็ไม่เคยต้องมารับมือกับสถานการณ์แบบนี้ การตรวจ และการออกเอกสารจริงๆ ก็รวดเร็วอยู่ในจังหวะนี้นะ แต่สุดท้ายเมื่อเราได้เอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ก็มาบอกว่า คนที่เดินทางวันที่ 20 (และจะถึงไทยในวันที่ 21) ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารแล้ว เพราะสำนักการบินพลเรือนเพิ่งออกประกาศเปลี่ยนแปลง”
โดยล่าสุด หลังจากออกประกาศมาได้ 2 วัน ทางสำนักงานการบินพลเรือนก็ได้ขอยกเลิก ประกาศฉบับวันที่ 18 มีนาคม แต่ถึงอย่างนั้น ประกาศฉบับวันที่ 19 มีนาคม ก็ยังระบุว่า ประชาชนชาวไทยที่เดินทางกลับนั้น ก็ยังจำเป็นต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง และต้องตรวจสอบหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่อยู่ แต่เปลี่ยนเป็นเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 22 มีนาคม แทน
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/caat.thailand/photos/a.571511166344923/1545767062252657/?type=3&theater
https://www.facebook.com/ThaiEmbLondon/photos/a.530658943664967/2823614337702738/?type=3&theater
#Brief #TheMATTER