ช่วงไวรัสกำลังระบาด หลายคนต่างก็กังวลว่า เชื้อจะมาถึงตัวเราไหม เราจะติดหรือเปล่า แต่อีกหนึ่งคำถามสำคัญ โดยเฉพาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์คือ ถ้าหากเราติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงนี้ขึ้นมา ไวรัสจะแพร่ไปถึงลูกในท้องเราไหม หรือจะเป็นอย่างไร เมื่อลูกคลอดออกมา ?
ในตอนนี้ ยังไม่มีข้อมูลมากนักที่ชี้ชัดว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร และนักวิทยาศาสตร์ ต่างก็พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้เช่นกัน แต่จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งศึกษาหญิงตั้งครรภ์เก้าคนที่ติดเชื้อ COVID-19 พบว่า ไม่มีอาการที่แสดงเห็นว่า ทารกได้รับผลกระทบจากไวรัส ไม่พบเชื้อไวรัสในน้ำคร่ำ ในคอของทารก หรือในน้ำนมแม่ ดังนั้นความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์นั้นจึงต่ำมาก และไม่มีหลักฐานว่า ทารกมีรูปร่างผิดปกติ หรือมีผลกระทบเนื่องจากการติดเชื้อ COVID-19 ของแม่
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีรายงานข่าวที่พบว่า มีทารกแรกเกิดรายหนึ่ง ที่พบว่าติดเชื้อไวรัส หลังคลอดออกมา 30 ชั่วโมง ซึ่งด็อกเตอร์ วิลเลียม ชาฟเนอร์ (William Schaffner) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน และโรคติดเชื้อที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย Vanderbilt ก็บอกว่า “ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เชื้อถูกส่งผ่านรก หรือทารกได้รับเชื้อไวรัสจากแม่หลังคลอด” แต่ก็มีข้อมูลว่าทารกนั้น ช่วงแรกเกิดมีความไวต่อการรับเชื้อไวรัสอยู่แล้ว
และแม้ถ้าแม่ติดเชื้อ ระหว่างรักษาตัว ก็ยังสามารถเลี้ยงลูกได้ โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์และนรีแพทย์ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ในขณะที่ผู้ปกครองมีเชื้อ COVID-19 สามารถให้นมลูกต่อไปได้ แต่พวกเขาอาจจะต้องสวมหน้ากาก อีกทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ก็แนะนำว่า อีกทางเลือกหนึ่งคือการปั๊มนม และให้คนที่สามารถเลี้ยงลูก และป้อนนมได้อย่างดี ดูแลแทนด้วย
ด็อกเตอร์ สตีเว่น กอร์ดอน (Steven Gordon) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่คลีฟแลนด์คลินิก แนะนำกับผู้ที่ตั้งครรภ์ว่า ควรจะระมัดระวังตัวเองให้ดี เพราะในช่วงตั้งครรภ์ ภูมิคุ้มกันของหญิงตั้งครรภ์จะมีความอ่อนไหวต่อโรคแทรกซ้อนจากไวรัส เช่นไข้หวัดใหญ่ หรืออีสุกอีใส “มันจึงเป็นเหตุผลว่า หญิงตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเชื้อไวรัสนี้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์” เขากล่าว
นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสยังอาจทำให้เกิดประเด็นถึงการคลอดลูกที่บ้านแทนการไปโรงพยาบาล ในสหรัฐฯ แต่เดนิส จามิสัน (Denise Jamieson) หัวหน้าภาควิชานรีเวชวิทยาและสูติศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์ Emory University ก็มองว่า ไม่จำเป็นต้องวางแผนคลอดที่บ้าน และ “ระบบโรงพยาบาลก็ต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย” แต่รูปแบบการคลอดนั้นอาจจะเปลี่ยนไป เช่นผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าห้องคลอด อาจจะลดลง หรือไม่ให้มีเลย ไปถึงหญิงตั้งครรภ์บางคนอาจจะไม่สามารถมีผู้ช่วยอยู่กับพวกเขาในระหว่างคลอดได้
ไม่ใช่เพียงแค่คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่กังวลต่อการติดเชื้อในเด็กๆ และลูกๆ ซึ่งดร. โคดี เมสเนอร์ (Cody Meissner) หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อในเด็ก ในโรงพยาบาลของสหรัฐฯ ก็แนะนำว่า พ่อแม่อาจจะมีความแพนิก แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องระมัดระวังให้ดี และจากข้อมูลที่พบ ส่วนใหญ่แล้ว เด็กๆ มักจะไม่มีอาการที่ไม่รุนแรง แต่ถึงอย่างนั้น เด็กเองก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงวัยได้ด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.health.harvard.edu/blog/pregnant-and-worried-about-the-new-coronavirus-2020031619212
https://www.nytimes.com/2020/03/17/parenting/coronavirus-children-pregnant-women.html
https://www.vox.com/2020/3/19/21183224/pregnancy-and-coronavirus-birth-covid-19-pregnant
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/pregnancy-breastfeeding.html
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER