คนวัยทำงานและมนุษย์ออฟฟิศหลายคน กำลังประสบปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดน้อยลงไปจากช่วงวิกฤติโควิด-19 จนเกิดความเครียดว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิตดี?
The MATTER เลยหยิบคำถามเรื่องการเงินไปสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี บัญชีและการเงิน เพื่อขอข้อแนะนำมาให้เราได้ปรับใช้กัน และนี้คือคำตอบจาก ‘พรี่หนอม’ แห่ง TaxBugnoms กูรูประจำเว็บไซต์ aomMONEY
Q : ในช่วงไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดอยู่นี้ มีคำแนะนำด้านการเงินแก่มนุษย์ออฟฟิศที่ต้องใช้เงินเดือนชนเดือนยังไงบ้าง?
A : ลำดับแรก ต้องเช็คก่อนว่า รายได้เราลดไหม และมีแนวโน้มจะลดไหม ถ้ามีโอกาสลดลง ให้เช็คต่อว่ามันกระทบอย่างไรบ้าง? ถ้ามันกระทบจนสภาพคล่องติดลบ (เงินได้มาไม่พอใช้จ่าย) ก็ต้องไปดูที่รายจ่ายตัวไหนว่าลดได้บ้าง?
โดยส่วนตัวมองว่า รายจ่ายที่ควรลด คือ รายจ่ายคงที่ ลองดูก่อนว่ารายจ่ายคงที่เรามีอะไรบ้าง? ตัวไหนลดได้ก็พยายามลดไปก่อน หรือแม้แต่การพูดคุยเจรจากับคนในครอบครัว คนรอบตัวที่เราดูแลอยู่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าช่วยกันลดรายจ่ายได้ ตรงนี้จะช่วยได้มาก
ถ้าลดรายจ่ายเต็มที่แล้วไม่ไหว ทีนี้ก็ต้องดูแล้วว่าจะทำยังไงให้กระแสเงินสดมันบวกอยู่ ขายทรัพย์สินบางอย่างได้ไหม เจรจาลดหนี้ที่ต้องจ่ายได้หรือเปล่า จริงๆ อีกทางที่ช่วยได้ คือ การหารายได้เพิ่ม แต่อย่างที่ว่า ตอนนี้มันกระทบทุกอย่าง ดังนั้นแค่การประคองรายได้ก็เป็นทางที่ลำบากสำหรับใครหลายคนอยู่แล้ว (แต่ถ้าใครทำส่วนนี้ได้ ถือว่าดีครับ)
Q : คนที่เป็นหนี้กับธนาคารอยู่แล้วได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเพราะโควิด-19 สามารถทำอะไรได้บ้าง?
A : ลิสต์หนี้ทั้งหมดที่เรามา แล้วลองมาดูเลยว่า ธนาคารไหนให้ความช่วยเหลือตรงนี้ได้บ้าง เพราะตอนนี้เขามีมาตรการช่วยเหลืออยู่ ลองติดตามมาตรการอัปเดตล่าสุดได้จากเว็บไซต์แบงก์ชาติ (https://bit.ly/32gPSZi) รีบเข้าไปเจรจาติดต่อขอผ่อนผัน ขยายเวลาชำระหนี้ พักชำระหนี้ ฯลฯ
นอกจากนั้น ถ้าไม่ไหวจริงๆ หนี้มันหนัก ก็ต้องมาดูแล้วว่า หนี้บางอย่างที่เรามี เราตัดได้ไหม เช่น ทรัพย์สินบางอย่างที่ผ่อนไม่ไหว จ่ายไม่ได้ ก็ต้องมาดูทางเลือกว่าจะขายหรือยังไงต่อ
Q : ในช่วงวิกฤติแบบนี้ มีข้อแนะนำเรื่องการออมเงินอย่างไรบ้าง?
A : เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมมองว่าถ้าสภาพคล่องยังดีอยู่ สะสมสำรองไว้เพิ่มเติมก็ดี เพราะสถานการณ์ไม่แน่นอนแบบนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามีเงินเหลือสุดๆ คล่องตัวมาก จะลงทุนก็ได้ แต่ขอให้ค่อยๆลงทุน อย่าทุ่มทีเดียวทั้งหมด แบ่งเงินออกเป็นหลายส่วนก่อนแล้วค่อยลงทุนตามความเหมาะสม
สำหรับคนที่สภาพคล่องไม่ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำให้สภาพคล่องตัวเองเป็นบวกเสียก่อน เพราะถ้าตอนนี้กระแสเงินสดเป็นลบ แล้วปล่อยให้ลบไปเรื่อยๆ น่าจะลำบาก
อีกเรื่องคือบทเรียนสำคัญที่หลายคนคงได้ ณ ตอนนี้ คือ การมีเงินสำรองฉุกเฉิน การบริหารเงินแบบเดือนชนเดือนแบบเดิมทำให้เรามีปัญหาเมื่อเจอวิกฤต ดังนั้นอย่าลืมเรื่องนี้ด้วย
สุดท้าย คือ อยากให้เห็นความสำคัญของการทำบัญชีรายรับรายจ่าย มันเป็นตัวช่วยตอบคำถามในเรื่องพวกนี้ทั้งหมด เพราะข้อมูลที่เรามีจะช่วยให้เรารู้ว่าเรามีปัญหาตรงไหน รวมถึงการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้ามันจะช่วยให้เรารู้ว่าต้องเตรียมเงินแบบไหนยังไงบ้าง
#Brief #TAXBugnoms #aomMONEY #TheMATTER