มาตรการเยียวยาคนหาเช้ากินค่ำจะเป็นอย่างไร?
“รอประชุม ครม.วันอังคาร”
จะเป็นมาตรการที่ได้ผลทันที ไม่ใช่แค่ลดค่าน้ำค่าไฟใช่ไหม?
“รออีก 1-2 วันก็จะได้ข้อสรุปแล้ว”
หนึ่งในสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อย ‘ข้องใจ’ ในคำตอบของรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ไม่ใช่แค่การพูดเย้าแหย่ผิดกาลเทศะว่า นักข่าวต้องการเงินใช้ไหม แต่เป็นการพูดว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนต่างๆ – ต้องรอประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกหลายวันข้างหน้า – เสียมากกว่า
ซึ่งขัดแย้งกับคำสั่งปิดสถานที่สำคัญๆ ใน กทม.และปริมณฑล เพื่อแก้ปัญหา COVID-19 ที่ออกมาวันนี้ มีผลทันทีพรุ่งนี้ และยังมีผลยาวถึง 22 วัน!
ไม่ได้บอกว่าจำเป็นต้องใช้ทางนี้ เพียงแต่เราอยากเสนอแนะหนึ่งในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยไม่จำเป็นต้อง ‘รอประชุม ครม.วันอังคาร’ แถมยังมีกฎหมายรองรับ นั่นคือการปฏิบัติตาม พระราชกฤษฎีกาการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่วรรคแรกบอกว่า การประชุม ครม. ต้องมีองค์ประชุมอย่างน้อยหนึ่งในสาม แต่วรรคสอง ก็ให้ข้อยกเว้นไว้ว่า ในกรณี (1) จำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ชาติ (2) ฉุกเฉิน และ (3) เพื่อรักษาความลับ “นายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาเรื่องใดกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อมีมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นได” แล้วค่อยแจ้งที่ประชุม ครม.ปกติ ในการประชุมครั้งถัดไป
[ ไม่ต้องเชื่อเราทันที ไปดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับการประชุม ครม.ดังกล่าวได้ที่: http://www.soc.go.th/acrobat/prt_49.pdf ]
เอาเข้าจริง การประชุม ครม.ทุกวันนี้ ก็ยึดตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ซึ่งออกมาในยุคสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ด้วยเหตุผลว่า “เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการในการตอบสนองความต้องการของประชาชน”
– อ่านเพิ่มเติมได้ที่: http://www.soc.go.th/acrobat/royalDecree.pdf
หวังว่าข้อมูลข่าวสารนี้ จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลในการออกมาตรการใดๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิธีแก้ไขวิกฤต COVID-19 อย่างทันท่วงที โดยไม่จำเป็นต้อง..
“รอการประชุม ครม.วันอังคาร”
เสมอไป
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER