แถลงการณ์มาตรการแก้ไขปัญหา COVID-19 จากกระทรวงสาธารณสุข (วันที่ 26 มี.ค.) ระบุว่า ขณะนี้ ได้วางแผนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจ และให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน เพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่า จะตรวจให้ได้ 10,000 คน ต่อวัน
ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ว่า จะมียอดผู้ติดเชื้อกว่า 300,000 ราย ในช่วงกลางเดือนเมษายน ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสให้ได้ ตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการติดเชื้อ
“ใน กทม.ซึ่งเป็นจุดที่มีผู้ติดเชื้อเยอะที่สุด เราวางแผนเพิ่มศักยภาพการตรวจ การบริการให้ได้ 10,000 รายต่อวัน .. ต่างจังหวัด เราก็วางแผนจะตรวจให้ได้ 10,000 ราย ต่อวันเช่นกัน ก็แปลว่า เดือนนึง ถ้ามีการตรวจกันทั้งวันทั้งคืน 300,000 คน นี่ตรวจได้สบายๆ”
ตอนนี้ มีห้องปฏิบัติการตรวจ COVID-19 ทั้งหมด 50 กว่าแห่ง โดยหน่วยงานภาครัฐใน กทม. มี 13 แห่ง ต่างจังหวัด 26 แห่ง ส่วนภาคเอกชน มีทั้งสิ้น 5 แห่ง
ขณะเดียวกัน ก็กำลังจัดทำห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง ซึ่งคาดการณ์ว่า ในเดือนเมษายนจะมีห้องปฏิบัติการณ์ประมาณ 100 แห่ง ทั้งยังมีการของบกลางเพื่อจัดตั้งห้องตรวจในระยะยาว และรองรับการตรวจตัวอย่างให้ได้อย่างน้อย 300,000 ตัวอย่าง ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
ส่วนเรื่องของปริมาณน้ำยาในการตรวจหาเชื้อนั้น ตอนนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีน้ำยาตรวจเชื้ออยู่ประมาณ 50,000 เทส และประมาณการณ์ว่า น่าจะมีน้ำยาตรวจเชื้ออยู่ตามห้องปฏิบัติการณ์ต่างๆ 100,000 เทส รวมถึง อีกส่วนหนึ่งที่กำลังสั่งซื้อเพิ่มเติมอยู่
ทั้งยังกล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจะปรับเกณฑ์ในการตรวจหาเชื้อไวรัสไปเรื่อยๆ จากช่วงแรก ที่ตรวจเชื้อผู้ที่มีอาการเข้าข่าย มีประวัติไปในพื้นที่เสี่ยง หรือใกล้ชิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เสี่ยง แล้วภายหลังก็เพิ่มการตรวจหาเชื้อในกลุ่มคนที่มีอาการทางเดินหายใจ และบุคลากรสาธารณสุขด้วย เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจพบผู้ติดเชื้อ
#Brief #TheMATTER