ตกเย็นทีไร ความกังวลใจมักเพิ่มขึ้น บางทีก็รู้สึกใจไม่นิ่งพอ จนทำให้นอนหลับไม่ค่อยได้ หลายคนกำลังเจอกับภาวะแบบนี้ ผสมกับช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านนานๆ ก็อาจทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้นได้เหมือนกัน
ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงหันไปหาที่พึ่งต่างๆ เพื่อช่วยลดความโดดเดี่ยว รวมถึงลดภาวะเครียดที่กำลังสะสมตัวอยู่ในจิตใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเข้าไปเสพคอนเทนต์แนว ASMR (Autonomous Sensory Meridian Response)
เราอาจแปลแบบง่ายๆ ASMR ได้ว่า หมายถึงการตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ ทั้งประสาทการได้ยิน การสัมผัส การมองเห็นที่ให้จิตใจเราสงบนิ่งลงได้
ในช่วงหลังมานี้ ยูทูบเบอร์สาย ASMR หลายคนก็เริ่มปรับตัวเพื่อสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ให้ตรงกับสถานการณ์ในช่วงนี้ เช่น ใช้เสียงล้างมือ ถูสบู่ ที่นอกจากจะให้ความรู้เรื่องการล้างมือเพื่อสู้กับ COVID-19 แล้ว ยังได้คอนเทนต์ที่สร้างความผ่อนคลายด้วยเสียงอีกด้วย
คำถามคือ ทำไมหลายคนถึงรู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นเมื่อได้ฟัง ASMR?
นิค เดวิส นักจิตวิทยาและนักประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัย Manchester Metropolitan อธิบายว่า ถึงแม้จะยังไม่สามารถชี้ชัดได้อย่างชัดเจนนัก แต่ที่แน่ๆ คือ เสียงกระซิบเหล่านั้น มันน่าจะมีผลทางจิตวิทยา โดยเฉพาะการมอบความรู้สึก ‘ใกล้ชิด’ ระหว่างเจ้าของเสียงกับผู้ฟัง และทำให้เกิดความสบายใจขึ้นมาได้
สอดคล้องกับความเห็นของ เคร็ก ริชาร์ด ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ASMR University ที่ศึกษาเรื่อง ASMR มาอย่างต่อเนื่อง โดยเขาเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนรู้สึกดีกับ ASMR เพราะมันทำให้เขารู้สึกถูกเอาใจใส่ และมันสามารถกระตุ้นความรู้สึกว่าเราได้รับความรักอีกด้วย
ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ต้องย้ำกันก็คือ สมองของพวกเรามันค่อนข้างซับซ้อน และรายละเอียดที่ต่างกันออกไป ดังนั้น บางคนก็อาจจะไม่ได้อินกับ ASMR อะไรขนาดนั้นก็ได้นะ
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้มีบทความชื่อ ‘Why Stress-Baking and Cleaning Make You Less Anxious’ จากเว็บไซต์ Wired พูดถึงช่วงเวลาที่ผู้คนต้องกักตัวเองอยู่กับบ้าน รวมถึงการ work from home เป็นระยะเวลานานๆ อย่างต่อเนื่อง ที่สามารถสร้างความเครียดให้กับผู้คนได้เหมือนกัน
นั่นอาจแปลว่า หลายคนอาจมี ASMR เป็นเซฟโซนให้กับชีวิตช่วงนี้ ขณะที่บางคนก็อาจเลือกใช้วิธีการทำอาหาร หรือทำความสะอาดบ้าน เป็นการบำบัดจิตใจตัวเองด้วยอีกทางหนึ่ง
แต่ถ้าเครียดหรือกังวลใจต่อเนื่องหลายวัน เราก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยเหลือเรานะ
อ้างอิงจาก
https://www.huffingtonpost.ca/entry/coronavirus-asmr-video_ca_5e6aa407c5b6bd8156f4018c
https://www.wired.com/video/watch/neuroscientist-explains-asmr-s-effects-on-the-brain-the-body
#Brief #TheMATTER