การล็อกดาวน์ ปิดเมือง ปิดสถานที่ และขอให้ประชาชนอยู่ในบ้าน และเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing กลายมาเป็นนโยบายสำคัญที่หลายประเทศใช้เพื่อการแก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19 แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ประชาชนทุกประเทศ ที่สามารถทำตามนโยบายเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะที่อินเดีย ที่คนยากจนต้องดิ้นรนกับการมีชีวิตได้ลำบากขึ้น
นเรนทรา โมดี นายกฯ อินเดีย ได้ประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม โดยห้ามประชาชนออกจากบ้านเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน ปิดร้านค้า ธุรกิจต่างๆ ที่ไม่จำเป็น รวมถึงมีคำสั่งห้ามรวมตัวตามที่สาธารณะ และขอให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย ซึ่งก็ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว แต่การประกาศกลับทำให้เกิดแรงงานมหาศาลที่ติดอยู่ในเมืองใหญ่ ต้องการแห่กลับบ้านเกิด ประชาชนอดอยาก ไร้บ้าน รวมไปถึงคนที่มีบ้านอยู่ในสลัมเอง ก็เริ่มมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก จากการที่สมาชิกทุกคนในบ้านต้องรวมตัวกันอยู่ในที่แคบ และเริ่มขาดแคลนอาหารเช่นกัน
จีเฮนเดอร์ มาเฮนเดอร์ (Jeetender Mahender) ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขาภิบาลดาลิทอายุ 36 ปี ไม่กล้าออกจากกระท่อมของครอบครัวของเขาในสลัมทางตอนเหนือของมุมไบ สถานการณ์ที่บ้านเขาเริ่มตึงเครียด อาหารเริ่มเหลือน้อย เมื่อเขาไม่ได้รับเงินจากการไปทำงาน และแม้ว่าเขาและครอบครัวจะพยายามทำตามคำสั่งของรัฐบาล แต่เขาก็เล่าว่าบ้านคับแคบมาก จนเป็นไปไม่ได้ที่ไหล่จะไม่ถูกกับคนอื่น ทั้งห้องน้ำสาธารณะเอง ยังใช้ร่วมกับหลายครอบครัว เขาบอกว่า เราทุกคนต่างอยู่ด้วยกัน ถ้ามีคนป่วย ทุกคนก็จะป่วยตามด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนแออัดในอินเดียที่ประสบปัญหาจากการปิดเมือง แต่ยังมีแรงงานข้ามรัฐจำนวนมาก ที่กำลังกลายเป็นคนไร้บ้าน และกำลังจะอดตายเช่นกัน คนเหล่านี้มักอาศัยอยู่ที่ร้านค้า หรือสถานที่ก่อสร้างที่พวกเขาทำงาน และเมื่อมีคำสั่งปิดกิจการ ทำให้ประชาชนนับล้านนอกจากจะไม่มีงานแล้ว ยังไม่มีบ้าน และอาหารด้วย ซึ่งคำสั่งล็อกดาวน์นั้น มีประกาศออกมาเพียงแค่ 4 ชั่วโมงก่อนเริ่มใช้ ทำให้พวกเขาที่พยายามจะกลับบ้านเกิด ตกค้าง เร่ร่อนอยู่ในเมืองด้วย
แรงงานหลายคนออกมาเดินเท้าเพื่อหวังจะกลับบ้านเกิด แต่เมื่อถึงชายแดนของเมืองอย่างเดลี ก็ถูกตำรวจทุบตีทำร้าย รวมไปถึงคนที่นอนตามสวนสาธารณะ หรือที่ต่างๆ ในเมือง ต่างก็ถูกตำรวจจัดการด้วย ปาปู วัย 32 ปี ผู้ซึ่งพยายามกลับบ้านที่รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งห่างไปถึง 125 ไมล์เล่าว่า “ฉันกลัวความหิว มากกว่าโคโรนา”
เช่นเดียวกับ ดีพัก คุมาร์ (Deepak Kumar) คนขับรถบรรทุกอีกคน ซึ่งพยายามเดินเท้าจากเดลี กลับบ้านเช่นกัน โดยที่ไม่ได้กินข้าวมา 2 วันแล้วก็มองว่า นโยบายนี้ว่า “นี่อาจเป็นการตัดสินใจที่ดีสำหรับคนร่ำรวย แต่ไม่ใช่พวกเราที่ไม่มีเงิน” ด้วย
หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งแจกอาหาร และที่พักเองก็เล่าว่า ช่วงสัปดาห์นี้ มีประชาชนมาขอรับอาหารมากขึ้น แต่ตำรวจก็เข้ามาหยุดการรวมตัว หรือบ้านพักสำหรับคนเร่ร่อนเองก็เล่าว่า บ้านเต็มตลอด และมีคนมาขอเข้าพักแต่ละวันมากเป็น 100 รายด้วย ซึ่ง ราจีส คุมาร์ (Rajesh Kumar) คนดูแลบ้านพักเล่าว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่ที่เขาพบ ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเลย พวกเขาตื่นมาในวันหนึ่ง และพบว่าตำรวจไล่พวกเขาออกจากถนน และสั่งให้พวกเขาเว้นระยะห่างทางสังคม
เมื่อวานนี้ นายกฯ โมดี ได้ออกมาปราศรับทางวิทยุประจำสัปดาห์ และกล่าวขอโทษประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน ที่เผชิญกับความยากลำบาก แต่เขายืนยันว่า ไม่มีทางเลือกอื่นในการสู้กับ COVID-19 ได้ และมาตรการต่างๆ นี้ จะช่วยให้อินเดียมีชัยชนะเหนือไวรัสได้
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2020/03/29/world/asia/coronavirus-india-migrants.html
https://edition.cnn.com/2020/03/30/india/india-coronavirus-social-distancing-intl-hnk/index.html
#Brief #TheMATTER