มีกระแสข่าวตลอดทั้งวันว่า นายกรัฐมนตรีจะประกาศ ‘เคอร์ฟิว’ (curfew) ในเย็นวันนี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หลังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาก่อนแล้ว
ว่าแต่เคอร์ฟิวคืออะไร?
เริ่มจากรากศัพท์กันก่อน หนังสือ Word Origins ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ‘เคอร์ฟิว’ มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณ couvre-feu แปลว่าดับไฟ (cuvrir คลุม feu ไฟ) แต่ต่อมาถูกใช้เรียกการที่รัฐออกคำสั่ง ‘ห้ามออกนอกเคหสถาน’ ในบางช่วงเวลา เช่นเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเกิดเหตุจลาจล
ที่ก่อนหน้านี้ หลายจังหวัดประกาศ ‘ขอความร่วมมืองดออกนอกเคหสถาน’ ในบางช่วงเวลา จึงยังไม่ใช่เคอร์ฟิว เพราะเป็นเพียงการขอความร่วมมือตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อเท่านั้น
และถ้านายกฯ จะใช้เคอร์ฟิวทั่วประเทศ ระหว่างสี่ทุ่ม-ตีสี่จริง จะเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9(1) ซึ่งกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนไว้คือ จำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับสูงสุด 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การประกาศใช้เคอร์ฟิวทั่วประเทศในรอบสิบปีหลัง นอกจากใช้หลังสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี พ.ศ.2553 ก็มีการใช้หลัง คสช.ยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ.2557
ชวนติดตามกันว่า ในวันนี้ช่วงเย็นหลังเคารพธงชาติ จะมีการประกาศเคอร์ฟิวอีกครั้งหรือไม่ ?
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.krisdika.go.th/librarian/getfile?sysid=457954
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/084/2.PDF
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER