หลายคนเคยเห็นภาพอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งรุนแรงที่สุดในโลก อย่างการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครน จากซีรีย์ชื่อดัง Chernoby ของช่อง HBO กันมาแล้ว ซึ่งผลจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นยังทำให้หลายคนหวาดผวากันอยู่ และตอนนี้ เกิดเหตุไฟไหม้ในป่าที่ห่างจากพื้นที่ที่เคยมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ราวๆ 2 กิโลเมตรเท่านั้น
ไฟป่าในเขตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในละแวกเมืองเชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของยูเครนนั้น เกิดขึ้นมานานกว่าสัปดาห์แล้ว โดยองค์กร Greenpeace ระบุว่า เพลิงไหม้ในครั้งนี้ กินพื้นที่กว้างกว่าที่ทางการคาดการณ์เอาไว้ด้วยซ้ำ
องค์กรยังกล่าวด้วยว่า จุดที่เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ที่สุดนั้นกินพื้นที่ไปประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ อีกจุดหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เคยมีโรงงานนั้น กินพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร
ยาโรสลาฟ เอมิเลียเนนโก (Yaroslav Emelianenko) ผู้ดำเนินการทัวร์ และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาสาธารณะของ Ukraine’s emergency service ระบุว่า ตอนนี้ เพลิงไหม้เข้าไปใกล้เมืองร้าง Pripyat แล้ว และอยู่ห่างจากพื้นที่โรงงานนิวเคลียร์ร้างเพียงแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งยังกล่าวโทษที่ปกปิดความรุนแรงของเหตุการณ์ครั้งนี้เอาไว้อีกด้วย
ขณะที่ Ukraine’s emergency service ระบุไว้เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมาว่า ไฟป่ายังคงยากที่จะดับ แต่ก็ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก ค่ากัมมันตรังสีในพื้นที่สงวนและกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดไฟป่ายังไม่เกินระดับมาตรฐาน ทั้งยังยืนยันว่า ไม่มีภัยคุกคามต่อสถานีพลังงานนิวเคลียร์ โรงเก็บเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วและสถานที่เสี่ยงอื่นๆ ในพื้นที่ดังกล่าว
ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ระดมกำลังนักดับเพลิงกว่า 310 นาย รถดับเพลิงหลายคัน รวมถึงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ เพื่อควบคุมเปลวเพลิง แต่ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุและที่มาของเพลิงไหม้ครั้งนี้ได้
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเคยระเบิดอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี ค.ศ.1986 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 42 ราย และมีสารกัมมันตรังสีปริมาณมากถูกพัดกระจายออกไปในหลายพื้นที่ของสหภาพโซเวียต ทั้งรัสเซีย เบลารุส และทางเหนือของยุโรป จนต้องประกาศเป็นพื้นที่ห้ามเข้า เพราะมีปริมาณกัมมันตรังสีมากเกินไป
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2020/04/11/world/europe/chernobyl-wildfire.html
https://www.theguardian.com/environment/2020/apr/13/ukraine-wildfires-close-chernobyl-nuclear-site
#Brief #TheMATTER