การเลื่อนเปิดเทอมจากกลางเดือน พ.ค. ไปเป็นต้นเดือน ก.ค. เพราะวิกฤต COVID-19 ทำให้ระยะเวลา ‘ปิดเทอม’ ของเด็กๆ เพิ่มจาก 1 เดือนครึ่งเป็น 4 เดือน แน่นอนว่าการตัดสินใจนี้เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่สิ่งที่นักการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งรู้สึกเป็นห่วง ก็คือ ‘ปรากฎการณ์ Summer Slide’
อะไรคือ ปรากฎการณ์ Summer Slide?
มีคำอธิบายว่า คือการที่ความรู้ของเด็กนักเรียนหยุดชะงักหรือถดถอยในช่วงปิดเทอมใหญ่ช่วงฤดูร้อน
ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ข้อมูลว่า มีงานวิจัยที่ระบุว่าช่วงเวลาที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน 6 สัปดาห์จะทำให้ความรู้หายไปถึงครึ่งปีการศึกษา โดยปรากฎการณ์นี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น กับเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส พิการ ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ ยากจน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือมีสภาพแวดล้อมในบ้านมีปัญหา
นอกจากคำว่า Summer Slide บางครั้งก็เรียกกันว่า Summer Setback หรือ Summer Learning Loss
หากการเปิดเทอม 6 สัปดาห์จะทำให้ความรู้ถอยหลังไปครึ่งปีการศึกษา แล้วการต้องหยุดเรียนถึง 4 เดือนจะทำให้ความรู้ถอยหลังไปขนาดไหน? เป็นคำถามที่ผู้เกี่ยวข้องต้องไปหาคำตอบและหาวิธีแก้ไขกันต่อไป
เวลานี้ภาคเอกชนบางส่วนพยายามก้าวเข้ามาบรรเทาปัญหานี้ เช่น แอพพลิเคชั่น StartDee ของพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่หมายมั่นว่าจะเป็น ‘์Netflix ทางการศึกษา’ ที่จับมือกับ AIS เปิดให้ใช้บริการฟรี ระหว่างวันที่ 18 พ.ค. – 30 มิ.ย.นี้ (ช่วงเวลาที่เลื่อนเปิดเทอม)
โจทย์ใหญ่สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่ได้มีแค่ว่า เมื่อไรจะกลับมาเปิดโรงเรียนได้อีก หรือจะเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์อย่างไร แต่ยังรวมถึงว่า ในช่วงที่ปิดเทอมยาวๆ นี้ จะทำอย่างไรให้ความรู้ที่เด็กๆ ได้มาก่อนนี้ไม่หายไป หรือถดถอยลงน้อยที่สุด
ในอดีตหลายโรงเรียนใช้วิธีเปิดเรียนภาคฤดูร้อน หรือให้การบ้านเด็กๆ กลับไปทบทวนความรู้ในช่วงปิดเทอม เพื่อลดภาวะ Summer Slide แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
การศึกษาจะหยุดรอโรงเรียนเปิดไม่ได้
อ้างอิงจาก
https://www.brookings.edu/research/summer-learning-loss-what-is-it-and-what-can-we-do-about-it/
#Brief #TheMATTER