ข้อเสนอ ‘เปิดเมือง’ หรือคลายล็อกดาวน์ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันในแต่ละวันลดลงต่อเนื่อง โดย ครม.เตรียมพิจารณาในวันอังคารที่จะถึง (28 เม.ย.) ว่าจะต้องอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะหมดในวันที่ 30 เม.ย.หรือไม่ และจะผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะทางสังคมใดบ้าง
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงประชุมทางไกลผ่านซูม เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (25 เม.ย.) เพื่อระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ฝ่าย มีบางข้อมูล-ข้อเสนอน่าสนใจ เราสรุปให้อ่านกันว่ามีอะไรบ้าง
อ.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลวิจัย เรื่อง ‘ Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ โควิด-19’ ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 18 จังหวัดกลุ่มเดียวกัน ใน 3 ช่วงเวลา คือ 5-9 เม.ย. 18-19 เม.ย. และ 22-24 เม.ย. พบว่า แม้หลังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนจะให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ แต่พอเวลาผ่านไป กลับให้ความร่วมมือน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเรียกว่าเป็น ‘ความเหนื่อยล้าทางพฤติกรรม’ และมีถึง 80% คาดหวังว่า รัฐจะผ่อนคลายการปิดเมืองลง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป
งานวิจัยยังชี้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละคน สัมพันธ์กับการให้ความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดย อ.ธานีบอกว่า คนที่มีรายได้น้อยพร้อมรับความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้มากกว่า และพร้อมจะเดินทางย้ายจังหวัดทันที หากจังหวัดนั้นๆ ได้เปิดเมืองก่อนจังหวัดที่ตัวเองอยู่ แต่ถ้ารัฐบาลบริหารมาตรการช่วยเหลือได้ดี ก็จะช่วยลดการอพยพคนข้ามจังหวัด และจะช่วยระงับการแพร่ระบาดได้ โดยเฉพาะมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท ดังนั้นมาตรการทางการคลังและด้านสาธารณสุขจำเป็นต้องใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสม
อีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดคุยในวงประชุม คือการนำเทคโนโลยีมาใช้จำกัดการแพร่ระบาดของโรค สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาแอพฯ ‘หมอชนะ’ ซึ่งจะใช้เก็บข้อมูลผู้ใช้โดยไม่ระบุตัวตน เพราะหากภายหลังพบว่าผู้ใช้มือถือเครื่องนี้เป็นผู้ป่วย ระบบจะประมวลย้อนหลังไป 15 วันว่าเคยเดินทางไปไหนและไปพบใครมาบ้าง โดยใช้ GPS และ Bluetooth ช่วยแยกแยะ และเตือนให้เข้าสู่ขั้นตอนการกักตัว ที่จะแบ่งเป็น 4 ระดับตามสี เขียว เหลือง ส้ม และแดง
สมโภชน์ยังตอบคำถามเรื่องความเป็นส่วนตัวด้วยว่า ข้อมูลของผู้ใช้แอพฯ นี้จะถูกเปิดเผยเมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้วเท่านั้น ส่วนข้อมูลกลางจะถูกส่งไปเก็บที่ AWS ของแอมะซอนที่มีความปลอดภัยระดับโลก และมีการเข้ารหัสไว้กับ 3 คน คือตัวแทนจากภาครัฐ ผู้พัฒนา และฝ่ายอื่นๆ หากไม่เห็นพ้องกันก็จะดูไม่ได้ และแอพฯ จะลบข้อมูลทิ้งทุกๆ 30 วัน
“แต่แอพฯ หมอชนะ จะใช้งานได้สมบูรณ์ ต้องมีผู้ใช้จำนวนมาก ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลกันและกัน ดังนั้น ต้องเร่งทำให้คนในสังคมเชื่อใจในระบบด้วย” สมโภชน์กล่าว
ด้านสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการสถาบัน Change Fusion เผยว่า กำลังพัฒนา ‘สบายดีบอท’ Line Bot ที่ให้คนในชุมชนบันทึกสุขภาพของตัวเอง เพื่อตรวจสอบว่ามีอาการคล้ายผู้ติด COVID-19 หรือไม่ จากนั้นจะมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัว นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเว็บไซต์ infoaid.org เพื่อช่วยเหลือกรณีที่ชุมชนหรือโรงพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์ใด เพื่อให้การบริจาคไปยังพื้นที่ขาดแคลนทำได้ตรงจุดมากขึ้น และถ้าหน่วยงานใดทำเป็นโครงการที่ต้องการการระดมทุน ก็สามารถเข้าไประดมทุนได้ที่ taejai.com ต่อได้ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือชุมชนอีกทางหนึ่ง
#Brief #TheMATTER