“คุณย่าที่ชอบหัวเราะ” แมเรียม ครูเกอร์ วัย 85 ปี จากรัฐวอชิงตัน
“ผู้เคยรอดตายจากมะเร็ง และเกิดในฟิลิปปินส์” ลอเร็ตตา เมนโดซ่า ดิโอนิซิโอ้ วัย 68 ปี เมืองลองแองเจลิส
“เคยช่วยชีวิตชาวยิว 56 คนจากเกสตาโป” โรมี่ โคห์น วัย 91 ปี เมืองนิวยอร์กซิตี้
“ผู้รักการท่องเที่ยวและไปมาแล้วเกือบทั้งโลก” โจแอน สโต๊ด สมิธ วัย 86 ปี รัฐเซาธ์แคโรไลนา
“ชอบดูแลคนอื่นๆ” แซนดร้า ลี เดอเบิลคอร์ท วัย 61 ปี รัฐแมรี่แลนด์
ฯลฯ
ในยุคที่ผู้คนเสพติดวิชั่ลสวยๆ หน้ากระดาษที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือ ถือว่าท้าทายต่อการเรียกความสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ The New York Times สื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังสหรัฐฯ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2563 กลับเต็มไปด้วยตัวหนังสือที่ไม่เพียงเรียกความสนใจจากเราได้ ข้อความในนั้นยังสั่นไหวหัวใจ ในห้วงยามที่เราต้องรอลุ้น ‘ตัวเลข’ ที่ทางการประกาศในแต่ละวัน
ตัวอักษรที่ปรากฎบนหน้าหนึ่งดังกล่าว ไม่เพียงมีรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตเพราะไวรัส COVID-19 ในสหรัฐอเมริกาที่ล่าสุดยอดใกล้ครบ 1 แสนคนแล้ว
แต่ด้านหลังรายชื่อของผู้เสียชีวิตบางราย ยังมีข้อความระบุถึง ‘ความทรงจำ’ ที่คนข้างหลังเขียนถึงพวกเขาเหล่านั้น ดังเช่นบางประโยคที่เรายกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ซึ่งทีมงานของ The New York Times ได้มาจากการรวบรวมข้อความในประกาศมรณกรรม (obituary) ที่เกี่ยวกับ COVID-19 ตามสื่อต่างๆ ทั่วประเทศ
แน่นอนว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ผู้รักษาหายแล้ว ต่อไวรัส COVID-19 ในแต่ละวันก็มีความสำคัญ เพราะช่วยสะท้อนว่าวิกฤตนี้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร ยังรุนแรงต่อไปหรือไม่ และสะท้อนว่ารัฐบาลแต่ละประเทศมีประสิทธิภาพในการทำงานมากน้อยเพียงใด แต่ต้องไม่ลืมว่า เบื้องหลังตัวเลขเหล่านั้น ก็คือ ‘ผู้คน’ ที่มีชีวิตเลือดเนื้อจริงๆ
ขอไว้อาลัยแด่ผู้จากไปทุกคน และขอให้วิกฤตนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด
อ้างอิงจาก
– https://www.nytimes.com/section/todayspaper
– https://www.nytimes.com/interactive/2020/05/24/us/us-coronavirus-deaths-100000.html
#Brief #TheMATTER