คุณคิดว่าวุฒิสภามีหน้าที่อะไรบ้าง? แต่ไม่ว่าคุณจะคิดว่าวุฒิสภามีหน้าที่อะไรก็ตาม บทบาทสำคัญของผู้เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ก็คือการมาลงมติในที่ประชุม เพื่อให้วุฒิสภาทำงานตามบทบาทหน้าที่นั้นๆ ได้
เมื่อโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) ตรวจสอบการทำงานของ ส.ว.ในรอบปีที่ผ่านมา และพบว่ามี ส.ว.หลายคนขาดลงมติเกิน 90% โดยบางคนมาลงมติเพียงครั้งเดียวเท่านั้น! จึงไม่แปลกอะไรที่หลายคนจะเลิกคิ้วสงสัย
iLaw ยังเปิดข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งขึ้น เมื่อ ผบ.เหล่าทัพที่เป็น ส.ว.ด้วย 5 ใน 6 ติดท็อปเทนผู้ที่ขาดลงมติมากที่สุด โดยจากการตรวจสอบการลงมติ 145 ครั้ง พบว่า
– พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ (ผบ.ทร.) ขาดลงมติ 144 ครั้ง
– พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ผบ.ทบ) ขาดลงมติ 143 ครั้ง
– พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน และ พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ (ผบ.ทอ.ทั้งคู่) ขาดลงมติรวมกัน 143 ครั้ง
– พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี (ผบ.สส.) ขาดลงมติ 136 ครั้ง
– พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ (ปลัดกระทรวงกลาโหม) ขาดลงมติ 135 ครั้ง
มีเพียง พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา (ผบ.ตร.) เท่านั้นที่ไม่ติดโผ
อย่างไรก็ตาม พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงชุดข้อมูลของ iLaw ดังกล่าวว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มองว่าทุกคนอาจมีภารกิจส่วนตัว และเชื่อว่า ทุกคนสามารถชี้แจงได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผบ.เหล่าทัพออกมาประกาศว่าจะไม่รับเงินเดือนในฐานะ ส.ว. ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน พ.ศ.2563 และจะคืนเงินที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ด้วย ขณะที่เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ มองว่าแค่ไม่รับเงินเดือนและคืนเงินเดือนยังไม่พอ อยากให้ ผบ.เหล่าทัพลาออกจากตำแหน่ง
บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดว่า ในช่วง 5 ปีแรก ให้ ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง (ส่วน ส.ว.อีก 244 คน จากทั้งหมด 250 คน คสช.เป็นผู้เลือกมา) และจะมีสิทธิในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา
อ้างอิงจาก
https://www.ilaw.or.th/node/5663
https://www.one31.net/news/detail/21401
https://www.thansettakij.com/content/424697
https://www.posttoday.com/politic/news/617651
#Brief #TheMATTER