หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวของดาว ‘พร็อกซิมาคนครึ่งม้า บี’ (Proxima b) ที่มีลักษณะคล้ายโลก โคจรอยู่รอบ ‘พร็อกซิมาคนครึ่งม้า’ (Proxima Centauri) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะมากที่สุด (อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 4.2 ปีแสง) ซึ่งตอนนี้มีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ทำให้้เรารู้จักมันมากขึ้น
งานวิจัยล่าสุดจาก Astronomy & Astrophysics ที่เผยผลจากการวัดดาว Proxima b โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ ESPRESSO (Echelle Spectrograph for Rocky Exoplanet- and Stable Spectroscopic Observations) พบว่า Proxima b มีมวลใหญ่กว่าโลก 1.17 เท่า (ลดลงจากเดิมที่เคยวัดได้ 1.3 เท่า) และโคจรรอบ Proxima Centauri เฉลี่ยทุก 11 วัน
Proxima b อยู่ใกล้กับดาวแม่ (Proxima Centauri) มากกว่าที่โลกอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ถึง 20 เท่า แต่พลังงานที่มันได้รับจาก Proxima Centauri ก็ใกล้เคียงกับพลังงานที่โลกของเราได้รับจากดวงอาทิตย์ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงมองว่า หากมีของเหลวก่อตัวบน Proxima b มันจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้
แต่ Proxima Centauri เป็นดาวที่ปล่อยรังสีเอ็กซ์ (X rays) ในปริมาณที่อันตรายต่อดวงดาวที่โคจรอยู่รอบๆ ตัวมัน โดย Proxima b ได้รับรังสีเอ็กซ์จาก Proxima Centauri ในปริมาณที่มากกว่าโลกได้รับจากดวงอาทิตย์ถึง 400 เท่า
นักวิทยาศาสตร์ จึงยังต้องศึกษาต่อไปว่า Proxima b จะมีชั้นบรรยากาศที่ปกป้องดาวจากรังสีอันตรายหรือไม่? ถ้ามีแล้วมันจะบรรจุองค์ประกอบทางเคมีที่สนับสนุนการพัฒนาชีวิตรึเปล่า? จึงจะสรุปได้ว่าสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวดวงนี้ได้จริงๆ
อย่างไรก็ตาม การส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดาวยังเป็นเรื่องของอนาคตอยู่ โดยองค์การนาซา ได้ประเมินไว้ว่า ด้วยเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในตอนนี้ อาจต้องใช้เวลาถึง 73,000 ปี กว่ามนุษย์จะเดินทางไปถึง
Proxima b เป็นที่รู้จักตั้งแต่ ปีค.ศ.2013 โดย Mikko Tuomi จาก University of Hertfordshire พบตัวบงชี้ถึงการมีอยู่ของดาวดวงนี้ และในปีค .ศ.2016 นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาดาวดวงนี้ต่อ โดยการสังเกตมันผ่านกล้องโทรทรรศน์ HARPS (High Accuracy Radial Velocity Planet Searcher) ที่อยู่ในหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ประเทศชิลี และการนำกล้องโทรทัศน์ ESPRESSO มาใช้ในปัจจุบัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวที่มีความแม่นยำมากขึ้น โดย ESPRESSO มีความแม่นย่ำกว่า HARPS ถึง 3 เท่า
อ้างอิงจาก
https://futurism.com/new-research-closest-exoplanet-could-host-life
https://phys.org/news/2020-05-espresso-presence-earth-nearest-star.html
#Brief #TheMATTER