จากกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ถูกตำรวจฆ่า สู่กระแสต่อต้านการเหยียดผิว และเชื้อชาติ ที่ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งนอกจากการชุมนุม เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบความยุติธรรม และสร้างความเท่าเทียมในสังคม หลายประเทศเองยังได้กลับไปพูดถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่ในอดีตเคยมีส่วนกับการค้าทาส เหยียดสีผิว และกลับไปทำลายรูปปั้นต่างๆ ที่ยกย่องบุคคลเหล่านั้น
โดยล่าสุด รูปปั้นของกษัตริย์ เลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม ที่มีอายุกว่า 150 ไป ได้ถูกถอดออกจากจัตุรัสสาธารณะในเมืองแอนต์เวิร์ปแล้วเมื่อวานนี้ ซึ่งกษัตริย์พระองค์นี้ ได้ใช้กองกำลังยึดครองประเทศคองโกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ใช้ระบอบการปกครองที่เอาเปรียบ ซึ่งนำสู่การเสียชีวิตของคนผิวดำหลายล้านคน ท่ามกลางกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และสีผิวที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ที่ผ่านมา ชาวเบลเยียมได้รับการศึกษาว่า ประเทศมีส่วนในการนำอารยธรรมมาสู่ภูมิภาคแอฟริกา และกษัตริย์เลออปอลที่ 2 เอง ก็ได้ถูกยกย่องในฐานะผู้วางรากฐาน ซึ่งถนน และสวนสาธารณะหลายแห่งเองก็ได้รับการตั้งชื่อตามพระองค์ รวมถึงรูปปั้นของกษัตริย์เอง ยังสามารถพบได้ทั่วประเทศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวเบลเยียม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เอง ต่างก็เพิ่มแรงกดดันให้ประเทศเผชิญหน้ากับมรดกจากประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งเบลเยียมก็เป็นส่วนหนึ่งในลัทธิล่าอาณานิคมของยุโรป
สัปดาห์ที่ผ่านมา รูปปั้นกษัตริย์ในแอนต์เวิร์ปถูกจุดไฟเผา และรูปปั้นอีกแห่งที่เมืองเกนต์ก็ถูกทาด้วยสีแดง ผู้ชุมนุมบางคนยังปีนขึ้นไปบนรูปปั้น โบกธงสาธารณประชาธิปไตยคองโก ตะโกนคำว่า “ฆาตกร” และ “ต้องชดใช้” ออกมาด้วย โดยในวันอังคารที่ผ่านมา มีชาวเบลเยี่ยมกว่า 65,000 คน ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอเรียกร้องให้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์กษัตริย์พระองค์นี้ทั่วประเทศ
โดย Joëlle Sambi Nzeba โฆษกของเครือข่าย Belgian for Black Lives กล่าวว่า การถอดรูปปั้นมีความสำคัญในระดับสัญลักษณ์ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น “อนุเสาวรีย์เหล่านี้ไม่เพียง แต่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ แต่ยังอยู่ในจิตใจของผู้คนด้วย”
แต่ถึงอย่างนั้น โฆษกนายกเทศมนตรี ก็ระบุว่า รูปปั้นของกษัตริย์ไม่ได้ถูกถอดเพราะการประท้วง แต่การทิ้งให้รูปปั้นเสียหายในสถานที่นั้น จะเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยสาธารณะ และรูปปั้นจะถูกย้ายไปที่พิพิธภัณฑ์ Middelheim แทน
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรูปปั้นของบุคคลสำคัญในอดีตหลายคนที่ถูกถอด เช่นในเมืองบริสตอล ของอังกฤษ ก็มีการโค่นรูปปั้นของ Edward Colston พ่อค้าทาสในสมัยศตวรรษที่ 17 โดยกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีการกลิ้งรูปปั้นไปบนถนน และโยนลงน้ำ เช่นเดียวกับรูปปั้นของ Robert Milligan เจ้าของทาส และพ่อค้าทาสชาวสก็อต ที่ถูกถอดจากบริเวณพิพิธภัณฑ์ท่าเรือเก่า ในลอนดอน ไปถึงตอนนี้ยังมีความพยายามที่จะถอดรูปปั้นของ Robert Clive นายพลที่เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิอาณานิคมด้วย
https://www.aljazeera.com/news/2020/06/leopold-ii-belgium-antwerp-remove-statue-200609133037080.html
https://www.vice.com/en_asia/article/935bey/robert-milligan-statue-removed-london
#Brief #TheMATTER